พบไวรัสกว่า 140,000 สายพันธุ์ในลำไส้ของมนุษย์ครึ่งหนึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน

ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจำนวนมากที่สุดบนโลก จำนวนของพวกมันมากกว่าจำนวนดาวฤกษ์ทั่วทั้งจักรวาลรวมกันหลายเท่า เราสามารถพบไวรัสได้ทุกที่รวมทั้งในลำไส้ของมนุษย์ที่พวกมันใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย ล่าสุดนักวิจัยรายงานว่าได้พบไวรัสกว่า 140,000 สายพันธุ์ในลำไส้ของมนุษย์และกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นมาก่อน

ลำไส้ของมนุษย์มีสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเหลือเชื่อ นอกจากแบคทีเรียแล้วยังมีไวรัสที่เรียกว่าแบคเทอริโอเฟจ (Bacteriophage) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แบคเทอริโอเฟจหรือเรียกสั้นๆว่า “เฟจ” คือไวรัสที่ติดเชื้อหรืออาศัยอยู่กับเซลล์ของแบคทีเรียเพื่อการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวน เฟจถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1915 จากการที่มันไปทำลายเซลล์แบคทีเรีย หลังจากนั้นได้มีการศึกษาวิจัยเฟจเพื่อการรักษาโรค (Phage therapy) เรื่อยมา ปัจจุบัน Phage therapy ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย

เป็นที่ทราบกันดีว่าแบคทีเรียในลำไส้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อสุขภาพและการเกิดโรค แบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อการเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท ในบางกรณีความไม่สมดุลของแบคทีเรียเหล่านี้อาจทำให้เกิดโรคและภาวะต่างๆ เช่น การขาดสารอาหาร โรคลำไส้อักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม เป็นต้น แต่เรายังรู้น้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของแบคเทอริโอเฟจที่มีต่อสุขภาพของร่างกาย ดังนั้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบคเทอริโอเฟจจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอนาคต

ทีมวิจัยที่สถาบัน Wellcome Sanger Institute และ EMBL’s European Bioinformatics Institute (EMBL-EBI) ใช้เทคนิคการจัดลำดับดีเอ็นเอที่เรียกว่า Metagenomics ทำการตรวจสอบ วิเคราะห์ และจัดกลุ่มของไวรัสที่พบในลำไส้มากกว่า 28,000 ตัวอย่างจาก 28 ประเทศ ผลปรากฏว่ามีไวรัสมากกว่า 140,000 สายพันธุ์อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์และกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่เคยรู้จักหรือพบเห็นมาก่อน

140,000-virus-species-in-human-gut-2

“สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าไวรัสบางชนิดไม่ได้เป็นอันตราย แต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศในระบบทางเดินอาหาร” Dr. Alexandre Almeida หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “มันน่าสนใจมากที่ได้รู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักจำนวนกี่ชนิดอาศัยอยู่ในลำไส้ของเรา และพยายามคลี่คลายความเชื่อมโยงระหว่างพวกมันกับสุขภาพของมนุษย์”

ในบรรดาไวรัสหลายหมื่นสายพันธุ์ที่ค้นพบใหม่นี้มีอยู่ตระกูลหนึ่ง (กลุ่มที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน) ที่พบอย่างแพร่หลายมาก ทีมวิจัยเรียกไวรัสกลุ่มนี้ว่า Gubaphage พวกเขาพบว่า Gubaphage เป็นไวรัสที่แพร่ระบาดมากที่สุดเป็นอันดับสองในลำไส้ของมนุษย์รองจากกลุ่ม crAssphage ซึ่งถูกค้นพบในปี 2014 ไวรัสทั้งสองชนิดนี้ดูเหมือนจะติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ประเภทเดียวกัน แต่หากไม่มีการวิจัยเพิ่มเติมก็ยากที่จะทราบถึงหน้าที่ที่แน่นอนของ Gubaphage ที่เพิ่งค้นพบ

ทีมวิจัยได้เผยแพร่จีโนมของไวรัสที่ติดเชื้อในแบคทีเรียหรือแบคเทอริโอเฟจเหล่านี้ในฐานข้อมูลใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นที่เรียกว่า “Gut Phage Database” ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการศึกษาไวรัสเหล่านี้เพิ่มเติมได้

“การวิจัยแบคเทอริโอเฟจกำลังเข้าสู่ช่วงยุคฟื้นฟูใหม่ ฐานข้อมูลไวรัสในลำไส้ของมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงถูกจัดทำขึ้นในเวลาที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ทางนิเวศวิทยาและวิวัฒนาการในการศึกษาไวรัสในอนาคต” Dr Trevor Lawley หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “เราเชื่อว่าการศึกษาองค์ประกอบทางพันธุกรรมที่โดดเด่นหลายๆอย่างจะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของไวรัสในลำไส้ที่มีต่อสุขภาพและ การเกิดโรคได้ในที่สุด”

 
ข้อมูลและภาพจาก sanger.ac.uk, medicalnewstoday

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *