เมดิเตอร์เรเนียนได้ชื่อว่ามีความโดดเด่นในความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ แต่มันกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
อุณหภูมิเฉลี่ยของบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนสูงขึ้นกว่าช่วงปี 1880-1920 ถึง 1.3 องศาเซลเซียสไปแล้ว ในขณะที่ส่วนที่เหลือของโลกมีอุณภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นราว 0.85 องศาเซลเซียส นักวิจัยใช้ช่วงเวลานี้ในการเปรียบเทียบเนื่องจากมันเป็นช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมที่จะมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแพร่หลายอันนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นผลให้โลกร้อนขึ้น
ผู้นำของโลกมีมติร่วมกันในกรุงปารีสเมื่อปีที่แล้วว่าจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามทำให้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เพื่อศึกษาดูว่าในอนาคตบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนจะมีสภาพเป็นอย่างไร นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ละอองเกสรดอกไม้ในหินตะกอนซึ่งบอกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและระบบนิเวศในอดีตที่ผ่านมาได้เป็นหมื่นปี
พวกเขาทำนายการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษนี้ ภายใต้สถานะการณ์การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบที่เป็นอยู่และภาวะโลกร้อนยังดำเนินต่อไปไม่ลดลง
“ภาคใต้ของสเปนทั้งหมดจะกลายเป็นทะเลทราย” Wolfgang Cramer และ Joel Guiot จากมหาวิทยาลัย Aix-Marseille ในฝรั่งเศส ระบุไว้ในงานวิจัย
ป่าผลัดใบ (Deciduous Forest) จะหายไปจากส่วนใหญ่ของภูเขา ทุ่งไม้พุ่ม (Shrubland) จะเข้ามาแทนที่ป่าผลัดใบของบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน
การเปลี่ยนแปลงนี้มันมากมายมหาศาลเกินกว่าที่โลกเคยเผชิญมาในรอบ 10,000 ปี
“การควบคุมให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงยังอยู่ภายในสภาพที่เคยเป็นมาในรอบ 10,000 ปีล่าสุด”
กระนั้นก็ตามสถานะการณ์อาจจะเลวร้ายกว่าที่ได้ทำนายไว้เนื่องจากการวิเคราะห์ในครั้งนี้ไม่ได้รวมเอาผลกระทบที่มนุษย์กระทำต่อระบบนิเวศ เช่น การสร้างชุมชนเมือง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้น
ข้อมูลและภาพจาก thelocal, inhabitat