1. มีต้นไม้บนโลกกว่า 60,000 สายพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามรวบรวมข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์, สวนพฤกษศาสตร์, ศูนย์การเกษตร และแหล่งข้อมูลอื่นๆจนสามารถสรุปได้ในปี 2017 ว่ามีต้นไม้ที่เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกทั้งสิ้น 60,065 สายพันธุ์ ที่น่าสนใจก็คือราว 58% ของสายพันธุ์ต้นไม้ทั้งหมดมีถิ่นกำเนิดในประเทศเดียว ประเทศที่มีสายพันธุ์ต้นไม้เฉพาะถิ่นมากที่สุดได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย และอินโดนีเซีย
2. ต้นไม้เพิ่งมีไม่นานเทียบกับอายุโลก
มีพืชปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อราว 470 ล้านปีก่อนแต่เมื่อเทียบกับอายุของโลกแล้วถือว่าเพิ่งมีมาไม่นาน โลกมีอายุ 4,500 ล้านปีดังนั้นช่วงที่มีพืชและต้นไม้เป็นช่วง 10% หลังสุดของประวัติศาสตร์โลกนี่เอง พืชจำพวกแรกสุดเป็นมอส (Moss) และลิเวอร์เวิร์ต (Liverworts) ซึ่งเป็นกลุ่มพืชที่ไม่มีท่อลำเลียง ส่วนพืชที่มีท่อลำเลียงเกิดขึ้นตามมาเมื่อราว 420 ล้านปีก่อน และหลังจากนั้นอีกหลายสิบล้านปีก็ยังไม่มีพืชชนิดใดที่สูงเกินกว่า 1 เมตร
3. ก่อนมีต้นไม้เป็นอาณาจักรของฟังไจ
จากประมาณ 420 ล้านถึง 370 ล้านปีก่อนมีสิ่งมีชีวิตลึกลับสกุลหนึ่งชื่อ Prototaxites มีลำต้นขนาดใหญ่กว้าง 1 เมตรและสูง 8 เมตร นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันมานานแล้วว่าต้นไม้เหล่านี้เป็นต้นไม้โบราณหรือไม่ แต่จากการศึกษาในปี 2007 สรุปว่าพวกมันเป็นฟังไจหรือเห็ดราไม่ใช่พืชซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยสำหรับโลกสมัยใหม่
4. ต้นไม้ชนิดแรกบนโลกเป็นไม้ไม่มีใบ
พืชหลายชนิดได้วิวัฒนาการเป็นต้นไม้ในช่วง 300 ล้านปีที่ผ่านมา ต้นไม้ชนิดแรกเท่าที่เคยพบมาคือ Wattieza ซึ่งระบุได้จากฟอสซิลอายุ 385 ล้านปีที่พบในพื้นที่ที่เป็นรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ตระกูลพืชในยุคก่อนประวัติศาสตร์นี้คาดว่าเป็นบรรพบุรุษของเฟิร์นมีความสูง 8 เมตรและก่อตัวเป็นป่าไม้แห่งแรกบนโลก พวกมันไม่มีใบแต่มีกิ่งก้านคล้ายกับเฟิร์นมีลักษณะคล้ายแปรงล้างขวด
5. ต้นไม้ยุคไดโนเสาร์ยังสูญพันธุ์ไม่หมด
ในช่วงยุคจูราสสิกมีต้นไม้เขียวชอุ่มสกุลหนึ่งที่มีอวัยวะสืบพันธุ์แบบกรวย (Cone-Bearing Plants) ชื่อว่า Wollemia อาศัยอยู่บนมหาทวีปกอนด์วานา (Gondwana) ต้นไม้โบราณเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วจากฟอสซิลและคิดว่าสูญพันธุ์ไปเมื่อ 150 ล้านปีก่อน แต่ในปี 1994 กลับพบว่ามีหลงเหลืออยู่สายพันธุ์หนึ่งอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตอบอุ่นที่อุทยานแห่งชาติ Wollemia National Park ของออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังมีต้นไม้จากยุคมีโซโซอิกอื่นๆหลงเหลืออยู่อีก โดยต้นไม้โบราณเก่าแก่ที่สุดที่ยังไม่สูญพันธุ์คือต้นแป๊ะก๊วยซึ่งมีมาตั้งแต่ 200 ล้านปีก่อน
6. ต้นไม้ปล่อยสารดึงดูดศัตรูของศัตรูได้
ต้นไม้อาจดูเหมือนนิ่งเฉยไม่ต่อต้านไม่ตอบโต้เวลามีศัตรูเข้ามาทำร้ายมัน แต่จริงๆแล้วต้นไม้มีความสามารถในการป้องกันตัวมากกว่าที่คิด พวกมันไม่เพียงสามารถผลิตสารเคมีเพื่อต่อสู้กับแมลงกินใบได้เท่านั้น บางชนิดยังสามารถยังส่งสัญญาณเคมีผ่านทางอากาศไปยังอีกต้นไม้ต้นอื่นในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้เตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีของแมลง สัญญาณทางอากาศของต้นไม้ยังสามารถถ่ายทอดบอกข้อมูลไปยังศัตรูของพวกแมลงเพื่อให้มาจัดการกับแมลงแทนมันได้ด้วย จากการศึกษาในปี 2013 พบว่าต้นแอปเปิ้ลที่ถูกหนอนผีเสื้อทำร้ายจะปล่อยสารเคมีที่ดึงดูดนกเพื่อให้มากินหนอน
7. ต้นไม้สื่อสารและแบ่งปันอาหารกันได้
ต้นไม้และพืชส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ทางชีวภาพกับเชื้อราไมคอร์ไรซาที่อาศัยอยู่บนรากของพวกมัน เชื้อราช่วยให้ต้นไม้ดูดซับน้ำและสารอาหารจากดินได้มากขึ้นและต้นไม้ก็ตอบแทนด้วยการแบ่งปันน้ำตาลจากการสังเคราะห์แสง เชื้อรายังเชื่อมโยงต้นไม้แต่ละต้นกับต้นไม้อื่นๆในบริเวณใกล้เคียงเหมือนเป็นอินเตอร์เน็ตใต้ดินเชื่อมต่อป่าไม้เข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายสำหรับการสื่อสารและการแบ่งปันทรัพยากร ในงานวิจัยหนึ่งพบว่าเครือข่ายต้นไม้ใหญ่อายุมากหรือ “ต้นแม่” เชื่อมต่อกับต้นไม้ที่มีอายุน้อยกว่าหลายร้อยต้นที่อยู่รอบๆ ต้นแม่จะส่งคาร์บอนส่วนเกินผ่านเครือข่ายเชื้อราไปยังต้นอ่อนช่วยให้ต้นอ่อนรอดชีวิตเพิ่มขึ้น 4 เท่า
8. ต้นไม้สามารถหยั่งรากลึกเป็นร้อยเมตร
ต้นไม้ส่วนใหญ่ไม่มีรากแก้วและรากของต้นไม้ส่วนใหญ่อยู่ในดินด้านบนลึกไม่เกิน 50 ซม. รากของต้นไม้มากกว่าครึ่งมักจะเติบโตในดินช่วง 15 ซม.ด้านบนสุด แต่การขาดความลึกนั้นจะถูกชดเชยด้วยการเติบโตด้านข้างอย่างเช่นระบบรากของต้นโอ๊กที่โตเต็มที่อาจมีความยาวได้หลายร้อยไมล์ แต่ก็มีต้นไม้บางชนิดที่หยั่งรากลึกลงไปใต้ดินอย่างน่าทึ่ง มีรายงานว่าต้นมะเดื่อป่าที่ถ้ำแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้มีรากลึกถึง 120 เมตร
9. ต้นไม้ใหญ่ใช้น้ำวันละกว่า 1,000 ลิตร
ต้นไม้ที่โตเต็มที่จำนวนมากต้องการน้ำปริมาณมากซึ่งอาจไม่ดีสำหรับสวนผลไม้ที่แห้งแล้งแต่เป็นเรื่องดีสำหรับมนุษย์ ต้นไม้ช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำท่วมจากฝนตกหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่ำ ด้วยการช่วยให้พื้นดินดูดซับน้ำได้มากขึ้นและด้วยการยึดดินกับรากต้นไม้สามารถลดความเสี่ยงต่อการพังทลายและความเสียหายต่อทรัพย์สินจากน้ำท่วมฉับพลัน ต้นโอ๊กที่โตเต็มที่ต้นเดียวสามารถคายน้ำได้มากกว่า 150,000 ลิตรต่อปีหรือวันละกว่า 400 ลิตรซึ่งก็คือปริมาณน้ำจากรากสู่ใบของมันแล้วปล่อยเป็นไอน้ำกลับสู่อากาศ แต่สำหรับต้นสนซีคัวย่า (Giant Sequoia) ที่เป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นต้องใช้น้ำถึงวันละเกือบ 2,000 ลิตรเลยทีเดียว
10. มนุษย์และสัตว์ฺโลกอยู่ยากหากไม่มีต้นไม้
ต้นไม้มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมหาศาลนอกจากเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญแล้วยังถูกใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ และอื่นๆอีกมากมาย ที่สำคัญต้นไม้ในเมืองยังช่วยควบคุมระดับมลพิษทางอากาศและต่อสู้กับผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยกำจัดก๊าซ CO2 ในบรรยากาศด้วยการสังเคราะห์แสง ขณะเดียวกันต้นไม้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดตั้งแต่กระรอกในเมืองและนกขับขานไปจนถึงสัตว์ที่ไม่ค่อยได้พบ เช่น ค้างคาว นกเค้าแมว กระรอกบิน และหิ่งห้อย ต้นไม้ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน่าทึ่ง งานวิจัยหนึ่งพบว่าการเพิ่มต้นไม้เพียงต้นเดียวในทุ่งหญ้าสามารถเพิ่มจำนวนชนิดของนกจากใกล้ศูนย์เป็น 80 ชนิดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ข้อมูลและภาพจาก treehugger, wikipedia