แอนดี วอร์ฮอล เจ้าพ่อป๊อปอาร์ตผู้เขียนภาพสุดดัง Campbell’s Soup Cans

แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) เป็นศิลปินผู้สร้างผลงานศิลปะแนวป็อปอาร์ต (Pop Art) ในหลากหลายมีเดียทั้งภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และดนตรีที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดคนหนึ่ง เขานำสิ่งที่พบเห็นเป็นประจำมาสร้างเป็นศิลปะแปลกใหม่น่าสนใจในสไตล์เฉพาะตัวจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะภาพเขียนชุด Campbell’s Soup Cans ที่โด่งดังมากจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีผลงานภาพเขียนราคาแพงติดอันดับมากที่สุดเป็นรองแค่ Vincent van Gogh และ Pablo Picasso เท่านั้น วอร์ฮอลทำสตูดิโอชื่อ “The Factory” เป็นสถานที่ผลิตผลงานศิลปะทุกรูปแบบภายใต้การดูแลของเขาซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เขาคือเจ้าพ่อศิลปะป๊อปอาร์ตตัวจริงที่ยังคงอยู่ในใจของคนทั่วโลกไปอีกนาน

 
ฝันเป็นนักออกแบบพาณิชย์ศิลป์

andy-warhol-1950s-period-00

 
แอนดี วอร์ฮอล เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อปี 1928 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก ในรัฐเพนซิลเวเนีย พ่อแม่เป็นชาวสโลวาเกียที่อพยพมาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนอายุ 8 ปีวอร์ฮอลเป็นโรค Syndenham’s chorea เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาททำให้ไม่สามารถควบคุมการขยับของร่างกายได้ ในช่วงที่ต้องนอนป่วยอยู่บนเตียงนานหลายเดือนแม่ให้เขาหัดวาดรูปซึ่งกลายเป็นงานอดิเรกที่โปรดปรานในวัยเด็กของเขา จากความชื่นชอบเขาฝึกฝนด้านศิลปะจนเชี่ยวชาญและเริ่มฉายแววโดดเด่นเมื่อได้รับรางวัลศิลปะและการเขียนเชิงวิชาการในระดับมัธยม หลังเรียนจบชั้นมัธยมวอร์ฮอลเข้าเรียนต่อที่สถาบัน Carnegie Institute of Technology ในเมืองพิตต์สเบิร์กทางด้านพาณิชย์ศิลป์ (Commercial Art) ระหว่างเรียนอยู่ที่นี่เขาได้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของนิตยสารศิลปะของนักศึกษามีโอกาสแสดงผลงานของตัวเองตีพิมพ์ในนิตยสารหลายครั้ง วอร์ฮอลได้รับปริญญาตรีสาขาวิจิตรศิลป์ด้านการออกแบบภาพในปี 1949

หลังเรียนจบเขาตัดสินใจไปทำงานในเมืองหลวงเพื่อสานฝันการเป็นนักออกแบบศิลปะเชิงพาณิชย์ชั้นนำเพราะกรุงนิวยอร์กเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นและศิลปะสมัยใหม่ของโลก วอร์ฮอลเริ่มต้นทำงานด้วยการเขียนภาพประกอบให้กับนิตยสารหลายฉบับ จากนั้นก็ทำงานออกแบบพาณิชย์ศิลป์แทบทุกรูปแบบจนมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับงานออกแบบโฆษณาให้กับบริษัทผลิตรองเท้า Israel Miller วอร์ฮอลเริ่มมีชื่อเสียงโดดเด่นในวงการโฆษณาและพาณิชย์ศิลป์ ผลงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบและได้รับรางวัลอยู่บ่อยๆจนในที่สุดเขากลายเป็นศิลปินพาณิชย์ศิลป์ที่ประสบความสำเร็จและมีงานชุกมากที่สุดคนหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก ปี 1957 วอร์ฮอลตั้งบริษัท Andy Warhol Enterprises, Inc. เพื่อทำธุรกิจจากศิลปะของเขา แต่เขามาประสบความสำเร็จสูงสุดจนกลายเป็นศิลปินชื่อดังก้องโลกเมื่อเขาได้รู้จักกับศิลปะแนวใหม่ที่เรียกว่าศิลปะประชานิยมหรือป๊อปอาร์ต (Pop Art)

 
ซุปกระป๋องราคาแพงที่สุดในโลก

andy-warhol-1960s-period-01

 
แม้ว่าวอร์ฮอลจะเป็นนักออกแบบศิลปะเชิงพาณิชย์ชั้นนำตามที่ตั้งใจไว้แล้วก็ตาม แต่เขายังต้องการยกระดับตัวเองเป็นศิลปินมืออาชีพที่แท้จริง และแนวศิลปะที่เขาสนใจคือศิลปะป๊อปอาร์ตซึ่งกำเนิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษในช่วงกลางทศวรรษ 1950 ศิลปะป๊อปอาร์ตเป็นการนำวัตถุ เรื่องราว และผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีมาสร้างเป็นผลงานศิลปินในรูปแบบและสไตล์ที่หลากหลายเพื่อสะท้อนสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบันตามความคิดและมุมมองของศิลปินแต่ละคนซึ่งมีแรงบันดาลใจและใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไป วอร์ฮอลเริ่มนำป๊อปอาร์ตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงานที่เขาทำอยู่โดยการเขียนภาพการ์ตูนดังอย่าง Superman และ Popeye ลงในงานออกแบบป้ายโฆษณาหน้าร้านของเขาในปี 1961 จากนั้นได้นำขวด Coca-Cola มาเขียนเป็นภาพป๊อปอาร์ตก่อนที่จะปิ๊งไอเดียนำภาพที่เขาเห็นเป็นประจำมาสร้างเป็นผลงานชิ้นเอกที่โด่งดังที่สุดในปีถัดมา

เมื่อภาพซุปกระป๋องยี่ห้อ Campbell อาหารโปรดที่วอร์ฮอลใช้ยังชีพมานานกว่า 20 ปีซึ่งวางเรียงรายเป็นระเบียบบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตแว่บเข้ามาในความคิดของเขาไอเดียบรรเจิดก็เกิดขึ้น เขาเขียนภาพซุปกระป๋อง Campbell ชนิดต่างๆที่มีขายอยู่ในขณะนั้นรวม 32 ภาพลงบนผ้าใบขนาด 51 x 41 ซม. แต่ละภาพดูแทบจะเหมือนกันต่างกันแค่ตัวหนังสือบอกชนิดของซุปเท่านั้น เมื่อนำภาพทั้งหมดมาจัดเรียงเป็นแถวละ 8 ภาพจำนวน 4 แถวกลายผลงานชื่อ Campbell’s Soup Cans วอร์ฮอลนำภาพชุดนี้ไปจัดแสดงในนิทรรศการป๊อปอาร์ตเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่ Ferus Gallery ในเมือง Los Angeles จัดโดย Irving Blum ภาพชุดนี้ขายไม่ได้ผู้จัดจึงซื้อไว้เองในราคา 1,000 ดอลลาร์แบบเงินผ่อน 10 เดือนๆละ 100 ดอลลาร์ หลังจากที่วอร์ฮอลเสียชีวิตไปแล้ว Irving Blum ขายภาพชุดนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) เป็นเงินถึง 15 ล้านดอลลาร์หรือเฉลี่ยภาพละ 468,750 ดอลลาร์ ซุปกระป๋องของวอร์ฮอลจึงกลายเป็นซุปกระป๋องที่มีราคาแพงที่สุดในโลกในทันที และภาพนี้ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศิลปะป๊อปอาร์ตอีกด้วย

 
สร้างศิลปะด้วยเทคนิคซิลค์สกรีน

andy-warhol-1960s-period-02

 
วอร์ฮอลเรียนรู้กระบวนการซิลค์สกรีนจากเจ้าของแท่นพิมพ์คนหนึ่งเมื่อราวปลายปี 1961 เขาได้นำมาพัฒนาต่อและใช้ในการสร้างงานศิลปะป๊อปอาร์ต เขาชื่นชอบเทคนิคนี้มากเนื่องจากเขาสามารถสร้างภาพป๊อปอาร์ตจากภาพถ่ายหรือภาพเขียนในรูปแบบและสีสันที่เขาต้องการด้วยเทคนิคซิลค์สกรีนได้อย่างง่ายดายและสามารถทำซ้ำได้อย่างรวดเร็วซึ่งสอดคล้องกับความคิดของเขาที่มองว่าการสร้างศิลปะเป็นการทำธุรกิจ วอร์ฮอลนำภาพของดาราดังในยุคนั้น เช่น Marilyn Monroe, Elvis Presley และ Elizabeth Taylor มาทำเป็นป๊อปอาร์ตในสไตล์ของตัวเองกลายเป็นผลงานดังมากมายอย่างเช่นภาพ Marilyn Diptych, Shot Marilyns, Eight Elvises, Triple Elvis และ Liz Taylor เป็นต้น

นอกจากดาราดังแล้ววอร์ฮอลยังนำภาพวัตถุหลายอย่างมาสร้างเป็นป๊อปอาร์ตที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เช่น ภาพ Coca-Cola (3) และ 3 Coke Bottles จากขวดน้ำอัดลมยี่ห้อดัง, ภาพ Brillo Box (Soap Pads) จากกล่องใส่สบู่, ภาพ Big Electric Chair จากเครื่องประหารชีวิต และโดยเฉพาะภาพชุด Flowers อันเป็นผลงานที่ทำเงินให้กับเขาได้มากทีเดียว นอกจากนี้เขายังนำภาพจากอุบัติเหตุรถชนมาสร้างเป็นป๊อปอาร์ตที่ได้รับความนิยมและมีราคาซื้อขายในเวลาต่อมาถึงระดับหลายสิบล้านดอลลาร์ซึ่งได้แก่ภาพ Silver Car Crash (Double Disaster) และ Green Car Crash (Green Burning Car I) เป็นต้น ต้องนับว่าวอร์ฮอลเป็นผู้ริเริ่มนำเทคนิคซิลค์สกรีนมาใช้ในการสร้างงานศิลปะและผลงานจากเทคนิคนี้ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวอีกอย่างหนึ่งของเขา

 
The Factory ผลิตศิลปะหลายแขนง

andy-warhol-1960s-period-07

 
ปี 1962 วอร์ฮอลได้ก่อตั้งสตูดิโอของตัวเองในกรุงนิวยอร์กให้ชื่อว่า “The Factory” ที่แห่งนี้คือโรงงานผลิตศิลปะของเขา เดิมสตูดิโอนี้มักถูกเรียกว่า Silver Factory เนื่องจากมันถูกตกแต่งด้วยวัสดุสีเงินที่เขาชื่นชอบ วอร์ฮอลจ้างทีมงานจำนวนมากให้มาสร้างงานศิลปะที่สตูดิโอแห่งนี้ภายใต้การกำกับดูแลของเขา นอกจากภาพพิมพ์และภาพเขียนแล้ววอร์ฮอลยังผลิตรองเท้า งานประติมากรรม และงานที่ได้รับมอบหมายในประเภทต่างๆเพื่อสร้างแบรนด์และขายสินค้าที่มีชื่อของเขา ผลงานส่วนใหญ่ของวอร์ฮอลถูกสร้างขึ้นที่สตูดิโอนี้ แต่ The Factory ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สร้างงานศิลปะเท่านั้น แต่มีเรื่องราวมากมายหลากหลายทั้งเรื่องดีและเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นที่นี่เพราะที่นี่ได้กลายเป็นที่ชุมนุมพบปะจัดปาร์ตี้ของบรรดาเพื่อนๆของวอร์ฮอลที่ประกอบไปด้วยซุปเปอร์สตาร์ ดาราดัง และเซเลปจำนวนนับร้อยคน

การอยู่ในแวดวงดารานักร้องได้นำวอร์ฮอลไปสู่การสร้างงานอื่นๆอีกหลายอย่างโดยอาศัยพื้นฐานการเป็นศิลปินของเขา ปี 1966 เขาได้เป็นผู้จัดการวงดนตรี The Velvet Underground ซึ่งมาเล่นดนตรีที่ The Factory เป็นประจำ เมื่อทางวงออกอัลบัมแรกที่ชื่อ The Velvet Underground & Nico เขาทำหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์และเป็นคนออกแบบปกอัลบัมซึ่งได้กลายเป็นผลงานดังอีกชิ้นหนึ่งของเขานั่นคือภาพ Banana วอร์ฮอลยังเป็นผู้ริเริ่มการโชว์แบบใหม่ในขณะที่วงดนตรีเล่นอยู่เขาจัดให้มีการฉายภาพยนตร์และการเต้นประกอบกันถือเป็นการแสดงแบบมัลติมีเดียเป็นครั้งแรก งานอีกแขนงหนึ่งที่วอร์ฮอลชอบมากคือการสร้างภาพยนตร์ เขาเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลายสิบเรื่อง ภาพยนตร์ของเขาที่ประสบความสำเร็จมากคือเรื่อง Chelsea Girls นอกจากนี้เขายังก่อตั้งนิตยสาร Interview และทำงานอย่างอื่นอีกมากมาย รวมทั้งได้ร่วมก่อตั้งสถาบันศิลปะ New York Academy of Art อีกด้วย

 
ศิลปินสุดป๊อปนักธุรกิจใหญ่ใจโฮโม

andy-warhol-1980s-period-01

 
วอร์ฮอลไม่เพียงเป็นศิลปินที่สร้างงานป๊อปอาร์ต แต่สไตล์และชีวิตส่วนตัวของเขายัง “ป๊อป” เอามากๆด้วย ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมสไตล์การแต่งตัวที่ทันสมัยจัดเต็มรวมไปถึงการใช้ชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยคนดัง ที่ The Factory มักจะมีปาร์ตี้มั่วยามั่วเซ็กส์กันอยู่บ่อยๆแต่เจ้าของบ้านอย่างเขากลับไม่ได้เข้าร่วม วอร์ฮอลไม่เคยแต่งงานเขาอยู่บ้านกับแม่มาโดยตลอดและเลี้ยงแมวเป็นเพื่อน เชื่อกันว่าเขาเป็นพวกรักร่วมเพศซึ่งเห็นได้ชัดจากภาพยนตร์ที่เขาสร้างมักเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อตอนอายุ 51 ปีว่าเขายังคงบริสุทธิ์อยู่ วอร์ฮอลเคยมีประสบการณ์เฉียดตายเนื่องจากถูกยิงโดย Valerie Solanas นักเขียนสตรีนิยมหัวรุนแรงที่เป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวงในปี 1968 เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสแม้ว่าจะรอดชีวิตมาได้แต่ก็ต้องใส่ชุดพยุงตัวไปตลอดชีวิต

ช่วงทศวรรษ 1970 วอร์ฮอลมีผลงานภาพป๊อปอาร์ตค่อนข้างน้อยเนื่องจากเขาหันไปทำงานอย่างอื่นเสียมาก แต่มีผลงานที่จดจำกันได้ดีคือภาพของเหมา เจ๋อ ตุง ที่มีอยู่หลายเวอร์ชั่น พอมาถึงช่วงทศวรรษ 1980 เขากลับมาสร้างภาพป๊อปอาร์ตออกมาอย่างมากมายและมีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นภาพของผู้มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างเช่นภาพ Queen Elizabeth II, Ingrid Bergman as the Nun และภาพ Orange Prince เป็นต้น วอร์ฮอลเสียชีวิตหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีในปี 1987 มีอายุ 58 ปี การที่เขาเป็นศิลปินที่สร้างงานศิลปะเพื่อธุรกิจด้วยแนวคิดประจำตัวที่ว่า “Making money is art, and working is art and good business is the best art.” นักวิจารณ์บางคนจึงไม่ค่อยยอมรับในความเป็นศิลปินของเขามากนัก แต่ในวงการป๊อปอาร์ตเขาคือศิลปินป๊อปอาร์ตชั้นแนวหน้าระดับ “เจ้าพ่อ” ที่ทุกคนยอมรับโดยสดุดี

 
ผลงานสุดเท่ของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ต

จากนักออกแบบภาพโฆษณาวอร์ฮอลได้ผันตัวเองมาสร้างศิลปะป๊อปอาร์ตจนกลายเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตชั้นแนวหน้าของโลก ผลงานของเขามีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการผสมผสานภาพเขียน ภาพถ่าย และเทคนิคซิลค์สกรีนในสไตล์และสีสันที่ไม่เหมือนใคร และต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานสุดเท่ของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ตคนนี้

1950s Period (1950 – 1959)

andy-warhol-1950s-period-01

Shoe Illustration for Harper’s Bazaar

andy-warhol-1950s-period-02

Shoes, Shoes, Shoes

andy-warhol-1950s-period-03

Fairy and Christmas Ornaments

andy-warhol-1950s-period-04

A Cat Named Sam

andy-warhol-1950s-period-05

In the Bottom of My Garden

andy-warhol-1950s-period-06

Happy Bug Day

1960s Period (1960 – 1969)

andy-warhol-1960s-period-01

Campbell’s Soup Cans

andy-warhol-1960s-period-02

Marilyn Diptych

andy-warhol-1960s-period-09

Brillo Box (Soap Pads)

andy-warhol-1960s-period-04

Eight Elvises

andy-warhol-1960s-period-05

Flowers

andy-warhol-1960s-period-06

Shot Marilyns

andy-warhol-1960s-period-07

Banana

andy-warhol-1960s-period-08

Big Electric Chair

andy-warhol-1960s-period-03

Coca-Cola (3)

andy-warhol-1960s-period-10

Silver Car Crash (Double Disaster)

andy-warhol-1960s-period-11

3 Coke Bottles

andy-warhol-1960s-period-12

Campbell’s Soup Can

andy-warhol-1960s-period-13

Campbell’s Soup I

andy-warhol-1960s-period-18

Liz Taylor

andy-warhol-1960s-period-15

Orange Car Crash Fourteen Times

andy-warhol-1960s-period-16

Elvis I & II

andy-warhol-1960s-period-14

Green Coca-Cola Bottles

andy-warhol-1960s-period-17

Jackie

andy-warhol-1960s-period-19

Self-Portrait (1966)

andy-warhol-1960s-period-20

Marilyn

andy-warhol-1960s-period-21

Cow Wallpaper

andy-warhol-1960s-period-22

Triple Elvis

andy-warhol-1960s-period-25

Green Car Crash (Green Burning Car I)

andy-warhol-1960s-period-27

Men in Her Life

andy-warhol-1960s-period-23

Ethel Scull 36 Times

andy-warhol-1960s-period-26

Four Marlons

andy-warhol-1960s-period-24

Campbell’s Soup Cans II

1970s Period (1970 – 1979)

andy-warhol-1970s-period-01

Mao

andy-warhol-1970s-period-02

Oxidation Painting

andy-warhol-1970s-period-03

Man Ray

andy-warhol-1970s-period-04

Brigitte Bardot

andy-warhol-1970s-period-05

Ladies and Gentlemen

andy-warhol-1970s-period-06

Julia Warhola

andy-warhol-1970s-period-07

Mona Lisa Four Times

andy-warhol-1970s-period-08

Flowers

andy-warhol-1970s-period-09

Drag Queen

1980s Period (1980 – 1987)

andy-warhol-1980s-period-01

Self-Portrait (1986)

andy-warhol-1980s-period-02

Queen Elizabeth II, from Reigning Queens (Royal Edition)

andy-warhol-1980s-period-03

Ingrid Bergman as the Nun

andy-warhol-1980s-period-04

Orange Prince

andy-warhol-1980s-period-05

Red Lenin

andy-warhol-1980s-period-06

Michael Jackson

andy-warhol-1980s-period-07

Self-Portrait (Camouflage)

andy-warhol-1980s-period-08

Beethoven

andy-warhol-1980s-period-09

Goethe

andy-warhol-1980s-period-10

Ten Portraits of Jews of the Twentieth Century

andy-warhol-1980s-period-15

Ted Turner

andy-warhol-1980s-period-12

Albert Einstein

andy-warhol-1980s-period-13

Ingrid Bergman With Hat

andy-warhol-1980s-period-14

Joseph Beuys (Diamond Dust)

andy-warhol-1980s-period-11

Blackglama (Judy Garland)

andy-warhol-1980s-period-16

Jane Fonda

andy-warhol-1980s-period-17

Mickey Mouse

andy-warhol-1980s-period-18

Botticelli (dettaglio)

andy-warhol-1980s-period-19

Chanel No. 5

andy-warhol-1980s-period-20

Absolut Vodka

andy-warhol-1980s-period-21

Dollar Sign

แอนดี วอร์ฮอลเป็นหนึ่งในศิลปินยุคศิลปะสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เขามีส่วนสำคัญในการนำพาศิลปะป๊อปอาร์ตให้ได้รับความนิยมอย่างยาวนาน ผลงานหลายชิ้นของเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของป๊อปอาร์ต เมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้วผลงานของเขายังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและมีราคาแพงลิบลิ่วระดับหลายสิบล้านดอลลาร์จนถึงเกินหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีผลงานภาพเขียนราคาแพงติดอันดับมากที่สุดเป็นรองแค่ Vincent van Gogh และ Pablo Picasso เท่านั้น

andy-warhol-02

 

ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, smithsonianmag, theartstory

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *