มารี คูรี (ค.ศ. 1867 – 1934) นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวโปแลนด์ เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านกัมมันตภาพรังสีและเป็นผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งที่ทำให้คนตายเป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล เป็นคนแรกและผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา มารี คูรีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก แม้จะขัดสนเรื่องการเงินและถูกกีดกันจากการเป็นผู้หญิง มารีได้ต่อสู้ดิ้นรนโดยหยุดเรียนเพื่อทำงานส่งให้พี่สาวของเธอเรียนจนจบก่อน แล้วให้พี่สาวส่งเธอเรียนด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่กรุงปารีสตามที่เธอตั้งใจ
มารีเริ่มค้นคว้าด้านกัมมันตภาพรังสีร่วมกับสามีคือปิแอร์ คูรีจนค้นพบว่ามีพลังงานถูกปล่อยออกมาจากแร่พิตช์เบลนด์ และได้พยายามแยกธาตุใหม่ออกจากแร่พิตช์เบลนด์ หลังจากใช้เวลาค้นคว้าราว 7 ปีเธอก็สามารถแยกธาตุใหม่ที่เธอเรียกว่าเรเดียมได้สำเร็จ ผลงานนี้ทำให้มารีและสามีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลังจากปิแอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มารียังคงมุ่งมั่นค้นคว้าต่อไปโดยมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์ของเรเดียมในทางการแพทย์ จนเธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในสาขาเคมี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีได้ตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามที่ต่างๆ หลังสงครามมารีได้กลับมาทำงานวิจัยอีกครั้ง แต่ผลกระทบจากการสัมผัสกับรังสีของเรเดียมเป็นเวลานานทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลายและเสียชีวิต การค้นพบที่ช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก กลับต้องแลกด้วยชีวิตของเธอ
ผลงานเด่น :
– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียม
– รางวัลโนเบลสาขาเคมีจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม
วาทะเด็ด :
– “One never notices what has been done; one can only see what remains to be done.” → ไม่มีใครสนใจในสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้ว; เขามองเห็นแต่เพียงสิ่งที่ยังคงต้องทำเท่านั้น
– “You must never be fearful of what you are doing when it is right.” → คุณไม่ต้องกลัวในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เมื่อมันถูกต้อง
2. ลีเซอ ไมท์เนอร์ (Lise Meitner)
ลีเซอ ไมท์เนอร์ เป็นนักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย-สวีเดนผู้ร่วมค้นพบธาตุโพรแทกทิเนียมและปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน เธอเกิดที่ออสเตรียมีเชื้อสายเป็นชาวยิว เรียนจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเวียนนา เป็นผู้หญิงคนที่สองของมหาวิทยาลัยที่จบดอกเตอร์ในสาขานี้ ในปี 1907 ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันไมท์เนอร์เริ่มต้นทำงานวิจัยเกี่ยวกับไอโซโทปของธาตุกัมมันตรังสีร่วมกับ Otto Hahn นักเคมีชาวเยอรมันที่กลายเป็นคู่หูร่วมวิจัยกันยาวนานหลายทศวรรษ งานวิจัยของทั้งคู่มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง พวกเขาค้นพบไอโซโทปใหม่ๆรวมทั้งการหดตัวของนิวเคลียสของอะตอมภายหลังการปลดปล่อยรังสีอัลฟา จนถึงปี 1917 ไมท์เนอร์และ Hahn ก็มีผลงานสำคัญเมื่อพวกเขาได้ค้นพบธาตุชนิดใหม่ที่มีเลขอะตอม 91 คือโพรแทกทิเนียม (Pa) ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ทั้งสองคนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลแต่ไม่ถูกเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัล
ปี 1938 เยอรมันยึดครองออสเตรียไมท์เนอร์ที่มีเชื้อสายยิวซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักจากพรรคนาซีไม่อาจอยู่ในเยอรมันได้อีกต่อไป เธอจึงหนีภัยการเมืองไปอยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนและทำงานวิจัยต่อไปที่นั่น ขณะที่ Otto Hahn ยังทำวิจัยอยู่ในเยอรมันแต่ทั้งคู่ติดต่ออัพเดทข้อมูลกันอยู่เสมอผ่านทางจดหมาย เมื่อไมท์เนอร์ได้รับทราบผลการทดลองจาก Hahn ว่าการยิงยูเรเนียมด้วยนิวตรอนผลที่ได้คือแบเรียม เธอได้วิเคราะห์และคำนวณปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยสูตร E = mc2 ของ Albert Einstein เธอค้นพบปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นและพบว่ามีการปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาล และนี่คือการค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันอันนำไปสู่ความก้าวหน้าทางฟิสิกส์อย่างมากมายรวมถึงการนำหลักการนี้ไปสร้างระเบิดนิวเคลียร์ด้วย แต่ปรากฏว่า Otto Hahn ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานนี้แต่เพียงผู้เดียวซึ่งผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเธอ ไมท์เนอร์ถูกเรียกขานเป็น “มารดาแห่งระเบิดนิวเคลียร์” รวมทั้งนำชื่อของเธอไปเป็นชื่อธาตุไมต์เนเรียม (Meitnerium)
ผลงานเด่น :
– ค้นพบธาตุโพรแทกทิเนียม (Pa)
– ค้นพบปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน
วาทะเด็ด :
– “Science makes people reach selflessly for truth and objectivity; it teaches people to accept reality, with wonder and admiration, not to mention the deep awe and joy that the natural order of things brings to the true scientist.” → วิทยาศาสตร์ทำให้ผู้คนเข้าถึงความจริงอย่างไม่เห็นแก่ตัว มันสอนให้ผู้คนยอมรับความเป็นจริงด้วยความประหลาดใจและความชื่นชมโดยไม่ต้องพูดถึงความเกรงขามและยินดีที่ระเบียบตามธรรมชาติของสิ่งต่างๆนำมาสู่นักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง
3. โรซาลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin)
โรซาลินด์ แฟรงคลิน เป็นนักเคมีชาวอังกฤษผู้มีบททางสำคัญต่อการทำความเข้าใจโครงสร้างโมเลกุลของ DNA, RNA, ไวรัส รวมทั้งถ่านหินและกราไฟท์ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแฟรงคลินได้ทำวิจัยเกี่ยวกับความพรุนของถ่านหินโดยใช้แก๊สฮีเลียม ผลงานวิจัยของเธอกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาถ่านหินและกราไฟท์ และทำให้เธอได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หลังเรียนจบแฟรงคลินย้ายไปกรุงปารีสทำการศึกษาโครงสร้างผลึกด้วยรังสีเอกซ์ (X-ray crystallography) อยู่หลายปีจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นจึงย้ายกลับมาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนซึ่งเธอได้รับมอบหมายให้ศึกษาโครงสร้างโมเลกุลของ DNA ที่ก่อนหน้านั้นได้มี Maurice Wilkins ทำเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว จากความเชี่ยวชาญการใช้รังสีเอกซ์ศึกษาโครงสร้างผลึกทำให้งานวิจัยของแฟรงคลินก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานภาพถ่ายการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ที่เรียกว่า “Photo 51” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของ DNA
แฟรงคลินได้ศึกษาจนสรุปได้ว่าโมเลกุล DNA มีโครงสร้างเป็นรูปเกลียวโดยมีฟอสเฟตอยู่ด้านนอก แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งกับ Wilkins และผู้บริหารเธอจึงย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเบค Wilkins ได้ส่งผลงานของเธอรวมทั้ง Photo 51 ไปให้ James Watson และ Francis Crick ที่ห้องทดลองคาเวนดิชซึ่งกำลังศึกษาโครงสร้างโมเลกุลของ DNA อยู่เหมือนกัน หลังจากนั้นไม่นานทั้งคู่ก็ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลที่ถูกต้องของ DNA ทำให้ James Watson, Francis Crick และ Maurice Wilkins ได้รับรางวัลโนเบล แฟรงคลินหันไปศึกษาโครงสร้างของ RNA และประสบความสำเร็จกับงานวิจัยโครงสร้างของไวรัสใบยาสูบ (TMV) ที่เป็นไวรัส RNA ชนิดหนึ่ง แต่อาจจะด้วยการทำงานกับรังสีเอกซ์เป็นเวลานานทำให้เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งและเสียชีวิตไปในขณะที่มีอายุเพียง 37 ปีเท่านั้น หลังจากเธอจากไปแล้ว Aaron Klug หนึ่งในทีมวิจัย RNA ของเธอได้ทำวิจัยต่อไปจนได้รับรางวัลโนเบลไปอีกคนหนึ่ง แม้ว่าแฟรงคลินจะไม่ได้รับรางวัลโนเบลแต่เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก
ผลงานเด่น :
– มีส่วนร่วมในการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของ DNA
– ผลงานการศึกษาโครงสร้าง RNA และไวรัสใบยาสูบ
วาทะเด็ด :
– “In my view, all that is necessary for faith is the belief that by doing our best we shall succeed in our aims: the improvement of mankind.” → ในความเห็นของฉัน สิ่งที่จำเป็นสำหรับศรัทธาคือความเชื่อที่ว่าด้วยการทำให้ดีที่สุดเราจะประสบความสำเร็จในเป้าหมายของเรานั่นคือการพัฒนามนุษยชาติ
4. บาร์บารา แมกคลินทอกค์ (Barbara McClintock)
บาร์บารา แมกคลินทอกค์ เป็นนักเซลล์พันธุศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ไขความลับของการถ่ายทอดพันธุกรรมระดับเซลล์หลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบ “ยีนกระโดด” (Jumping Genes) เธอเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์สาขาพฤกษศาสตร์ แล้วเรียนต่อด้านพันธุศาสตร์ซึ่งผู้หญิงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เรียน เธอจึงได้รับปริญญาเอกในสาขาพฤกษศาสตร์ หลังเรียนจบในปี 1927 เธอทำการศึกษาวิจัยพันธุศาสตร์ของพืชในระดับเซลล์อยู่ที่คอร์เนลล์พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนหนังสือไปด้วย แมกคลินทอกค์พัฒนาเทคนิคการส่องดูโครโมโซมของข้าวโพดด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยใช้สีย้อมซึ่งช่วยให้งานวิจัยของเธอก้าวหน้าไปอย่างมาก ปี 1931 เธอมีผลงานสำคัญสามารถพิสูจน์ได้ว่าการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมข้ามโครโมโซมหรือ Chromosomal crossover เกิดขึ้นในระหว่างช่วงการแบ่งตัวของเซลล์สืบพันธ์ในระยะไมโอซิส (Meiosis) มีความเชื่อมโยงกับการรวมตัวใหม่ของโครโมโซมที่ถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมสู่รุ่นต่อไป
หลังจากย้ายไปทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิสซูรีได้ราว 5 ปีแมกคลินทอกค์ได้ย้ายไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการ Cold Spring Harbor Laboratory ในรัฐนิวยอร์ก เธอทำงานวิจัยอยู่ที่นี่จนเกษียณอายุพร้อมกับสร้างผลงานสำคัญหลายอย่าง หลายปีต่อเนื่องนับจากปี 1944 เธอได้ศึกษาโครโมโซมที่เกี่ยวข้องกับลักษณะและสีของข้าวโพดจนได้ข้อสรุปว่ายีนบนโครโมโซมสามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้ซึ่งมีผลโดยตรงต่อลักษณะทางพันธุกรรมในรุ่นลูกหลาน สิ่งนี้ถูกเรียกว่า “ยีนกระโดด” (Jumping Genes) แต่เมื่อเธอนำเสนอการค้นพบนี้กลับพบว่าไม่มีใครเข้าใจหรือยอมรับจนเธอต้องหยุดตีพิมพ์ผลงานตั้งแต่ปี 1953 หลังจากเวลาผ่านไปนับสิบปีเริ่มมีผลงานวิจัยที่ให้ผลสอดคล้องกับสิ่งที่แมกคลินทอกค์ค้นพบ และในที่สุดทุกคนก็ยอมรับว่าการค้นพบของเธอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในทางพันธุศาสตร์ แมกคลินทอกค์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี 1983 ขณะที่เธอมีอายุ 81 ปีจากผลงานการค้นพบเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้แบบเดี่ยวๆอีกด้วย
ผลงานเด่น :
– พิสูจน์การมีอยู่ของ Chromosomal crossover
– ค้นพบ “ยีนกระโดด” (Jumping Genes)
วาทะเด็ด :
– “If you know you’re right, you don’t care. You know that sooner or later, it will come out in the wash.” → ถ้าคุณรู้ว่าคุณถูก, คุณไม่ต้องสนใจ คุณรู้อยู่แล้วว่าไม่ช้าก็เร็วความจริงจะปรากฏออกมา
5. ราเชล คาร์สัน (Rachel Carson)
ราเชล คาร์สัน (ค.ศ. 1907 – 1964) เป็นนักชีววิทยาทางทะเลและนักอนุรักษ์ชาวอเมริกันผู้สร้างแรงกระตุ้นผ่านทางหนังสือของเธอทำให้เกิดการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก คาร์สันเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็นนักชีววิทยาที่สำนักประมงสหรัฐ ผลงานเล่มแรก Under the Sea Wind ที่เขียนถึงพฤติกรรมของปลาและนกทะเลยังไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่เล่มถัดมา The Sea Around Us ที่เขียนเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลตั้งแต่ยุคแรกเริ่มถึงล่าสุด กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับและได้รับรางวัลหนังสือแห่งชาติประจำปี 1952 และส่งผลให้หนังสือเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีไปด้วย และยังตามมาด้วยหนังสือเล่มที่สาม The Edge of the Sea ซึ่งเป็นหนังสือขายดีเช่นกัน
คาร์สันใช้เวลาหลายปีในการศึกษาวิจัยผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉีดสเปรย์ DDT ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม จากนั้นเธอได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่สุด Silent Spring ซึ่งได้อธิบายจนเห็นภาพชัดถึงอันตรายของสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่เป้าหมายการกำจัด รวมทั้งต่อมนุษย์เองด้วย หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดการโต้เถียงครั้งใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและก่อให้เกิดกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จนรัฐบาลสหรัฐได้ก่อตั้งหน่วยงาน EPA ขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ และทำให้เกิดการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผลงานของคาร์สันนับว่าได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างมาก
ผลงานเด่น :
– เขียนหนังสือ Silent Spring ที่กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก
– เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลหลายเล่ม
วาทะเด็ด :
– “But man is a part of nature, and his war against nature is inevitably a war against himself.” → แต่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ, และการทำสงครามกับธรรมชาติของมนุษย์ก็คือการทำสงครามกับตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
6. เชนชิง วู (Chien-Shiung Wu)
เชนชิง วู เป็นนักฟิสิกส์ชาวจีน-อเมริกันผู้มีผลงานโดดเด่นทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ เธอเกิดและเติบโตในประเทศจีน เรียนจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติหนานจิง หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยอยู่สองปีจึงเดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์และสำเร็จปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ในปี 1940 วูทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์อยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันจนถึงปี 1944 จึงได้เข้าร่วมทำวิจัยในโครงการแมนฮัตตันเพื่อสร้างระเบิดนิวเคลียร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หน้าที่ของเธอคือช่วยพัฒนากระบวนการแยกยูเรเนียมออกเป็นไอโซโทปของยูเรเนียม-235 และยูเรเนียม-238 โดยการแพร่กระจายของก๊าซซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิตยูเรเนียมในปริมาณมากเพียงพอสำหรับระเบิดนิวเคลียร์ รวมทั้งช่วยพัฒนาเครื่องมือตรวจจับรังสี จากผลงานนี้ทำให้วูได้รับการยอมรับในวงการนักฟิสิกส์ชั้นนำ
วูศึกษาเรื่องการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีที่ให้อนุภาคเบตาที่เรียกว่า Beta decay มาตั้งแต่ตอนที่เรียนปริญญาเอก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอได้ทำวิจัยในเรื่องนี้ต่อจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ในปี 1956 Tsung Dao Lee และ Chen Ning Yang สองนักฟิสิกส์เชื้อสายจีนผู้ร่วมกันเสนอทฤษฎี Parity violation ที่ระบุว่าความเท่าเทียมกันไม่ได้รับการอนุรักษ์ในอันตรกิริยาอย่างอ่อนได้ขอให้วูทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของพวกเขา อาศัยความเชี่ยวชาญด้าน Beta decay เธอได้สร้างการทดลองพิสูจน์ได้สำเร็จว่าทฤษฎีของสองนักฟิสิกส์ร่วมเชื้อชาติเป็นจริง ส่งผลให้สองคนนั้นได้รับรางวัลโนเบล ส่วนเธอถูกมองข้ามไป แต่การทดลองครั้งนั้นที่ถูกเรียกว่า “Wu experiment” ได้กลายเป็นตำนานบทหนึ่งในวงการฟิสิกส์ ปี 1965 วูได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Beta Decay ซึ่งได้กลายเป็นหนังสือเล่มสำคัญในวิชานิวเคลียร์ฟิสิกส์จนถึงปัจจุบัน ด้วยความสามารถที่ยอดเยี่ยมทางด้านการทดลองทางฟิสิกส์ของวูจึงทำให้เธอถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Marie Curie อยู่เสมอ
ผลงานเด่น :
– พิสูจน์ทฤษฎี Parity violation ด้วย “Wu experiment”
– เขียนตำรานิวเคลียร์ฟิสิกส์ Beta Decay
วาทะเด็ด :
– “It is shameful that there are so few women in science… In China there are many, many women in physics. There is a misconception in America that women scientists are all dowdy spinsters. This is the fault of men. In Chinese society, a woman is valued for what she is, and men encourage her to accomplishments yet she remains eternally feminine.” → มันเป็นเรื่องน่าละอายที่วิทยาศาสตร์มีผู้หญิงเพียงไม่กี่คน… ในประเทศจีนมีผู้หญิงในวิชาฟิสิกส์จำนวนมาก มีความเข้าใจผิดในอเมริกาว่านักวิทยาศาสตร์หญิงล้วนแต่เป็นสาวทึนทึกที่โง่เขลา นี่เป็นความผิดพลาดของผู้ชาย ในสังคมจีนผู้หญิงมีค่าในสิ่งที่เธอเป็นและผู้ชายส่งเสริมให้เธอประสบความสำเร็จ แต่เธอก็ยังคงเป็นผู้หญิงตลอดไปอยู่ดี
7. แคทเธอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson)
แคทเธอรีน จอห์นสัน เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการส่งมนุษย์เดินทางสู่อวกาศขององค์การนาซานานหลายสิบปี เธอเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาคณิตศาสตร์จากวิทยาลัยของคนผิวสี (HBCU) ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย จอห์นสันทำงานเป็นครูสอนคณิตศาสตร์อยู่ระยะหนึ่งจนถึงปี 1952 จึงได้เข้าร่วมงานกับสำนักคณะกรรมการที่ปรึกษาการบินสหรัฐ (NACA) ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การนาซา เธอทำหน้าที่เป็นนักคำนวณทำการวิเคราะห์ในหัวข้อต่างๆเกี่ยวกับการบิน ปี 1958 เธอได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมที่รับผิดชอบการส่งมนุษย์ไปสู่อวกาศและนำกลับมาอย่างปลอดภัย งานสำคัญชิ้นแรกของเธอคือการคำนวณเส้นทางการบินของยาน Freedom 7 ที่ส่ง Alan Shepard ชาวอเมริกันคนแรกขึ้นสู่อวกาศในปี 1961 งานต่อมาคือการคำนวณเส้นทางโคจรของยานอวกาศ Friendship 7 ที่ขึ้นไปโคจรรอบโลกเป็นครั้งแรกโดยนักบินอวกาศชื่อดัง John Glenn ในปี 1962
แม้ว่าองค์การนาซาได้นำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการคำนวณ แต่ด้วยความสามารถในการคำนวณที่ยอดเยี่ยมและแม่นยำมากของจอห์นสันทำให้เธอยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่ต่อไป และในปี 1969 เธอได้ร่วมในโครงการประวัติศาสตร์ส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ด้วยยานอพอลโล 11 เธอรับผิดชอบคำนวณเส้นทางการบินของยานอวกาศทั้งไปและกลับเช่นเคยและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ต่อมาในโครงการอพอลโล 13 ที่ต้องยกเลิกการนำยานลงจอดบนดวงจันทร์เนื่องจากยานอวกาศมีปัญหาหลายอย่างนั้นเธอก็เป็นผู้กำหนดเส้นทางการบินกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย จอห์นสันทำงานที่นาซาจนเกษียณอายุในปี 1986 จอห์นสันได้รับการยกย่องเป็นบุคคลทรงคุณค่าขององค์การนาซาและนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐอเมริกา แต่เธอไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะเธอทำงานอยู่เบื้องหลังจนกระทั่งเรื่องราวของเธอถูกนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ออกฉายในปี 2016 จอห์นสันเพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2020 ขณะมีอายุ 101 ปี
ผลงานเด่น :
– คำนวณเส้นทางการบินของยานอวกาศหลายภารกิจ รวมทั้งโครงการอพอลโล 11
วาทะเด็ด :
– “Girls are capable of doing everything men are capable of doing. Sometimes they have more imagination than men.” → ผู้หญิงทำได้ทุกอย่างที่ผู้ชายทำได้ บางครั้งพวกเขายังมีจินตนาการมากกว่าผู้ชาย
8. เจอร์ทรูด บี เอลเลียน (Gertrude B. Elion)
เจอร์ทรูด บี เอลเลียน เป็นนักชีวเคมีและเภสัชกรชาวอเมริกันผู้พัฒนายารักษาโรคสำคัญหลายอย่างโดยใช้นวัตกรรมใหม่ของการออกแบบยา เธอเรียนจบปริญญาตรีสาขาเคมีเกียตินิยมอันดับ 1 ตอนอายุแค่ 19 ปี จากนั้นทำงานเป็นนักเคมีที่บริษัทผลิตอาหารพร้อมกับเรียนปริญญาโทภาคค่ำจนจบ ต่อมาในปี 1944 เอลเลียนได้งานที่บริษัทผลิตยา Burroughs-Wellcome เป็นผู้ช่วยของนายแพทย์ George H. Hitchings เธอตัดสินใจละทิ้งโอกาสเรียนต่อจนจบปริญญาเอกเนื่องจากต้องเรียนเต็มเวลาซึ่งต้องลาออกจากงาน นับจากนั้นเอลเลียนกับ Hitchings ได้ทำการพัฒนายารักษาโรคหลายอย่างด้วยกันอย่างยาวนานหลายสิบปี พวกเขาใช้นวัตกรรมใหม่ในการออกแบบยาโดยอาศัยความแตกต่างในชีวเคมีและเมแทบอลิซึมระหว่างเซลล์ของมนุษย์และเซลล์ของเชื้อโรคแทนวิธีลองผิดลองถูกแบบเดิม พวกเขาประสบความสำเร็จในการพัฒนายารักษาโรคที่สำคัญมากมายหลายอย่าง
เอลเลียนมีประสบการณ์ต้องสูญเสียคนรักเพราะความเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ตอนเด็กเธอเคยเฝ้าดูคุณปู่จากไปด้วยโรคมะเร็ง และก่อนที่เธอจะมาทำงานที่ Burroughs-Wellcome เพียงไม่กี่ปีเธอก็ต้องสูญเสียคู่รักคนเดียวในชีวิตของเธอเพราะโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ การได้มาร่วมทีมพัฒนายาจึงเป็นงานที่ตรงกับสิ่งที่เคยตั้งใจอยากทำและเธอก็สามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม เอลเลียนศึกษาวิจัยสารประกอบอินทรีย์ที่ชื่อพิวรีน (Purine) นำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ตามมาด้วยยารักษาโรคเอดส์, โรคเริม และอีกหลายโรค รวมทั้งยากดภูมิคุ้มกันตัวแรกที่ใช้ในการต่อสู้กับการปฏิเสธในการปลูกถ่ายอวัยวะ ตลอดชีวิตเอลเลียนได้พัฒนายาที่จดสิทธิบัตรในนามของเธอทั้งหมดถึง 45 รายการ หลังจากเกษียณอายุในปี 1983 เธอยังมีบทบาทสำคัญในองค์การอนามัยโลกและสถาบันวิจัยมะเร็งหลายแห่ง เอลเลียนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับ Hitchings ในปี 1988 และได้รับรางวัลเกียรติยศอื่นๆอีกมากมายรวมทั้งปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
ผลงานเด่น :
– พัฒนายารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคเอดส์, โรคเริม และยากดภูมิคุ้มกัน
– รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาจากผลงานการใช้นวัตกรรมใหม่ในการพัฒนายา
วาทะเด็ด :
– “Don’t be afraid of hard work. Nothing worthwhile comes easily. Don’t let others discourage you or tell you that you can’t do it. In my day I was told women didn’t go into chemistry. I saw no reason why we couldn’t.” → อย่ากลัวการทำงานหนัก ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ อย่าให้คนอื่นขัดขวางคุณหรือบอกคุณว่าคุณทำไม่ได้ มีคนบอกฉันว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับวิชาเคมี ฉันมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงทำไม่ได้
9. เอดา เลิฟเลซ (Ada Lovelace)
เอดา เลิฟเลซ เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ได้ชื่อว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของ Lord Byron กวีคนสำคัญของอังกฤษ แต่เธอไม่มีโอกาสได้รู้จักกับพ่อของตัวเองเพราะเขาทอดทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เธอมีอายุแค่เดือนเดียว แม่ของเลิฟเลซส่งเสริมให้ลูกสาวได้รับการศึกษาอย่างดีโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เลิฟเลซได้เรียนกับนักคณิตศาสตร์เก่งๆเป็นการส่วนตัวหลายคน เธอได้แสดงความอัจฉริยะทางด้านคณิตศาสตร์ออกมาตั้งแต่เด็กเป็นที่ชื่นชมของคุณครูทุกคน เลิฟเลซสนิทสนมกับครูคนสำคัญของเธอคือ Mary Somerville ซึ่งได้แนะนำเธอให้รู้จักกับ Charles Babbage นักคณิตศาสตร์ชั้นนำแห่งยุคผู้ดำรงตำแหน่งเมธีลูเคเชียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆที่เรียกว่า Analytical Engine เลิฟเลซสนใจในเครื่องวิเคราะห์ของ Babbage ในขณะที่เขาประทับใจในความฉลาดและทักษะในการวิเคราะห์ของเลิฟเลซมาก ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนต่างวัยและนำไปสู่ผลงานที่ยอดเยี่ยมของเลิฟเลซ
ปี 1840 Babbage ไปบรรยายเกี่ยวกับเครื่องวิเคราะห์ Analytical Engine ที่มหาวิทยาลัยตูริน Luigi Menabrea วิศวกรชาวอิตาลีได้ถอดความบรรยายครั้งนั้นตีพิมพ์ในภาษาฝรั่งเศส ต่อมาเลิฟเลซถูกขอให้แปลบทความนั้นเป็นภาษาอังกฤษ เธอใช้เวลาเกือบปีหนึ่งแปลบทความพร้อมกับเพิ่มเติมบันทึกที่ยาวกว่าบทความเดิมสามเท่าตีพิมพ์ในปี 1843 ส่วนหนึ่งในบันทึกเลิฟเลซได้แสดงและอธิบายขั้นตอนและวิธีการสำหรับการคำนวณตัวเลขเบอร์นูลลี (Bernoulli numbers) ที่เป็นลำดับของจำนวนตรรกยะแบบหนึ่งโดยใช้เครื่อง Analytical Engine และนี่คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรืออัลกอริทึมแรกของโลก และเธอยังได้แสดงความเห็นในบันทึกว่าในอนาคตเครื่องวิเคราะห์ไม่ได้คำนวณเลขได้เพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่แปลงเป็นตัวเลขได้ เลิฟเลซได้รับการยกย่องว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลกจากผลงานดังกล่าว น่าเสียดายที่เธอมีอายุสั้นเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะมีอายุเพียง 36 ปีเท่านั้น
ผลงานเด่น :
– เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรืออัลกอริทึมแรกของโลก
วาทะเด็ด :
– “The more I study, the more insatiable do I feel my genius for it to be.” → ยิ่งฉันศึกษามากเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งรู้สึกถึงความเป็นอัจฉริยะที่ไม่รู้จักพอ
10. เจนนิเฟอร์ ดาวด์นา (Jennifer Doudna)
เจนนิเฟอร์ ดาวด์นา เป็นนักชีวเคมีชาวอเมริกันผู้ค้นพบเทคโนโลยีการตัดต่อยีนด้วยเทคนิคที่เรียกว่า CRISPR-Cas9 เธอเรียนจบปริญญาเอกสาขาวิชาเคมีชีวภาพและเภสัชวิทยาโมเลกุลจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1989 เธอเริ่มต้นทำงานวิจัยค้นหาโครงสร้างและหน้าที่ทางชีววิทยาของไรโบไซม์ (Ribozyme) ซึ่งเป็นอาร์เอ็นเอที่เร่งปฏิกิริยาเคมีได้ ปี 1966 ขณะทำวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยลดาวด์นาประสบความสำเร็จก้าวแรกเมื่อสามารถใช้การตกผลึกด้วยรังสีเอกซ์ทำแผนที่โครงสร้างสามมิติของไรโบไซม์สำเร็จซึ่งเป็นครั้งแรกที่โครงสร้างของไรโบไซม์ถูกเปิดเผยต่อโลก ปี 2002 เธอย้ายไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีและอณูชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ หลังจากนั้นหนึ่งทศวรรษดาวด์นาก็ประสบความสำเร็จกับการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในทางวิทยาศาสตร์
ในปี 2011 ดาวด์นาได้พบกับนักชีวเคมีหญิงชาวฝรั่งเศส Emmanuelle Charpentier ซึ่งทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัย Umeå University ในประเทศสวีเดน จากนั้นทีมวิจัยของทั้งสองคนได้ทำงานร่วมกันในการพัฒนาวิธีการตัดต่อยีนด้วยเทคนิค CRISPR-Cas9 และประสบความสำเร็จในปี 2012 การค้นพบนี้นำความก้าวหน้ามาสู่พันธุวิศวกรรมเป็นอย่างมาก เทคนิค CRISPR-Cas9 ถูกนำไปใช้และพัฒนาต่อยอดจนก้าวหน้าอย่างรวดเร็วกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆในทุกวงการอย่างมหาศาลชนิดไม่อาจคาดเดาได้ ดาวด์นาและ Charpentier ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีสำหรับการพัฒนาวิธีการแก้ไขจีโนมในปี 2020 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงสองคนได้รับรางวัลนี้ร่วมกัน นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลเกียรติยศอื่นๆอีกมากมายและเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอีกคนหนึ่ง
ผลงานเด่น :
– ค้นพบเทคโนโลยีการตัดต่อยีนด้วยเทคนิค CRISPR-Cas9
วาทะเด็ด :
– “The more we know, the more we realize there is to know.” → ยิ่งเรารู้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งตระหนักมากขึ้นเท่านั้นว่าจำเป็นต้องรู้
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, nobelprize, biography, famousscientists