1. สร้างเพื่อจักรพรรดิคนแรกของประเทศจีน
กองทัพดินเผาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่จิ๋นซีฮ่องเต้ (Qin Shi Huangdi) ซึ่งเดิมเป็นผู้ครองรัฐฉินหนึ่งในเจ็ดรัฐใหญ่ในแผ่นดินจีนที่แยกกันปกครอง ต่อมาจิ๋นซีฮ่องเต้ได้ผนวกดินแดนจีนทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การปกครองได้สำเร็จ ก่อตั้งราชวงศ์ฉินและกลายเป็นจักรพรรดิคนแรกของประเทศจีน ในสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ประเทศจีนมีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมาก มีการก่อสร้างขนาดใหญ่มากมายโดยเฉพาะถนนหนทาง รวมทั้งเริ่มสร้างกำแพงเมืองจีนด้วย จิ๋นซีฮ่องเต้ได้ชื่อว่าหมกมุ่นกับการมีชีวิตอมตะถึงขนาดส่งกลุ่มคนหนุ่มสาวเดินทางไปค้นหายาอายุวัฒนะ เชื่อกันว่าคนกลุ่มนี้มาถึงญี่ปุ่นและเป็นผู้วางรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่น กองทัพทหารดินเผาก็ถูกสร้างขึ้นเพื่อความเป็นอมตะของพระองค์สำหรับชีวิตหลังความตายนั่นเอง
2. เป็นส่วนหนึ่งของสุสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
กองทัพดินเผาเป็นส่วนหนึ่งของสุสานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งถูกสร้างเหมือนเป็นอาณาจักรส่วนตัวครอบคลุมพื้นที่เกือบ 100 ตารางกิโลเมตร ศูนย์กลางของอาณาจักรขนาดย่อมนี้คือหลุมฝังศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาและสร้างเป็นทรงพีระมิด สุสานแห่งนี้ประกอบด้วยสำนักงานหลายแห่ง ห้องโถง คอกม้า และโครงสร้างอื่นๆ รวมถึงอุทยานของจักรพรรดิที่ตั้งอยู่รอบเนินสุสาน นักรบดินเผาถูกจัดวางอยู่ทางทิศตะวันออกของหลุมฝังศพ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาร่างของพระองค์ตราบชั่วกาลนาน สุสานที่ถูกสร้างให้เป็นเหมือนเมืองๆหนึ่งนี้จึงถูกเรียกขานเป็น “เมืองวิญญาณ” (Spirit City)
3. เริ่มสร้างตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ตอนอายุ 13 ปี
ในบันทึกของ Sima Qian นักประวัติศาสตร์คนสำคัญที่เขียนขึ้นหลังจากสุสานสร้างเสร็จราวหนึ่งศตวรรษระบุว่างานสร้างสุสานเริ่มขึ้นในปี 246 ก่อนคริสตศักราชไม่นานหลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์รัฐฉินขณะมีอายุ 13 ปี ตำแหน่งหลุมฝังศพถูกกำหนดที่เชิงภูเขาหลี่ (Mount Li) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซีอาน มณฑลซานซี ประเทศจีน ซึ่งเป็นสถานที่โปรดของพระองค์เนื่องจากเป็นสถานที่มงคลในเชิงธรณีวิทยา ด้านเหนืออุดมไปด้วยทองคำและด้านใต้อุดมไปด้วยหยกที่สวยงาม
4. งานก่อสร้างใช้แรงงานมากกว่า 700,000 คน
งานก่อสร้างสุสานที่ยิ่งใหญ่และกองทัพทหารดินเผาจำนวนมากจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรและแรงงานจำนวนมหาศาล นักประวัติศาสตร์ประมาณการว่ามีแรงงานนักโทษมากกว่า 700,000 คนจากทั่วโลกถูกส่งไปทำงานที่นั่น งานสร้างกองทัพทหารดินเผารวมถึงการติดตั้งเข้าที่เรียบร้อยใช้เวลานานถึง 40 ปี บันทึกทางประวัติศาสตร์ยังระบุด้วยว่าจิ๋นซีฮ่องเต้ได้สร้างเมือง Liyi ทั้งเมืองเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของคนงานที่สร้างสุสานของพระองค์ ทั้งผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างและผู้ที่ถูกสังหารหลังจากเสร็จงาน
5. ทหารดินเผาถูกฝังอยู่ใต้ดินนานกว่า 2,000 ปี
หลังการเสียชีวิตของจิ๋นซีฮ่องเต้เมื่อราว 210 ปีก่อนคริสต์ศักราช กองทัพทหารดินเผาก็ค่อยๆเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน นักรบดินเผาถูกฝังอยู่ใต้ดินนานกว่า 2,000 ปีจนกระทั่งในปี 1974 เจ้าของสวนผลไม้ชื่อ Yang Zhifa ได้ทำการขุดบ่อน้ำตรงบริเวณที่ห่างจากหลุมฝังศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่เชิงภูเขาหลี่ราว 1.5 กิโลเมตร เขาพบกับศีรษะรูปปั้นดินเผาเข้าโดยบังเอิญ จึงแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หลายเดือนต่อมานักโบราณคดีชาวจีนก็ได้ค้นพบผลงานสุดมหัศจรรย์ของบรรพบุรุษในสมัยโบราณ
6. กองทัพทหารดินเผามีนักรบกว่า 8,000 นาย
หลังการขุคค้นที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปีมีการค้นพบหลุมที่มีทหารดินเผาตั้งอยู่ 3 หลุมสำคัญมีความลึกราว 7 เมตร หลุมที่1 ขนาดใหญ่ที่สุด ยาว 216 เมตร กว้าง 62 เมตร เป็นที่ตั้งของกองทัพหลักพบทหารดินเผากว่า 6,000 นาย หลุมที่ 2 ยาว 124 เมตร กว้าง 98 เมตร เป็นหน่วยทหารม้าและทหารราบและรถม้าศึก หลุมที่ 3 มีขนาดเล็กเป็นฐานบัญชาการพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงและรถม้าศึก หลุมที่ 4 ว่างเปล่าคาดว่าอาจยังสร้างไม่เสร็จ รวมแล้วมีการค้นพบทหารดินเผามากกว่า 8,000 นาย รถม้าศึก 130 คันพร้อมม้าเทียม 520 ตัว และม้าศึกอีก 150 ตัว นอกจากนี้ที่หลุมอื่นๆยังพบรูปปั้นดินเผาของเจ้าหน้าที่ นักกายกรรม จอมพลัง และนักดนตรี
7. ทหารดินเผาทั้งหมดไม่มีตัวใดเหมือนกันเลย
ทหารดินเผามีขนาดเท่าคนจริงสูง 175 – 200 ซม. ทหารแต่ละนายจะถูกสร้างให้มีความแตกต่างกันไปตามตำแหน่งหน้าที่ด้วยความสูง (ระดับบังคับบัญชาจะสูงกว่า), เครื่องแบบ, ทรงผม รวมถึงใบหน้าและรายละเอียดบางอย่าง ประเภทของทหารมีหลากหลายเหมือนในกองทัพจริง มีทั้งผู้บังคับบัญชาหลายระดับ, ทหารราบสวมเกราะ, พลเดินเท้า, ทหารม้า, พลขับรถศึกสวมเกราะ, พลหน้าไม้คุกเข่า, พลธนูสวมเกราะ ฯลฯ ในบรรดาทหารดินเผากว่า 8,000 นายไม่พบว่ามีทหารสองนายใดที่เหมือนกันทุกประการอยู่เลย
8. กระบวนผลิตทหารดินเผาซับซ้อนไม่ธรรมดา
งานสร้างทหารดินเผาจำนวนกว่า 8,000 นายนั้นถือว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ทั้งด้านกระบวนการผลิต ศิลปะ และการขนส่ง รูปปั้นดินเผาขนาดเท่าคนจริงน้ำหนักแต่ละตัวกว่า 200 กิโลกรัม ทุกตัวมีรายละเอียดที่ชัดเจนสวยงามของทรงผม ลักษณะใบหน้า เครื่องแต่งกาย รวมถึงรอยพับที่เหมือนจริงของเสื้อผ้า จากงานวิจัยได้ข้อสรุปว่าทหารดินเผาถูกสร้างขึ้นแบบแยกชิ้นส่วนหลายชิ้น แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกัน โดยมีกระบวนการผลิต 6 ขั้นตอนหลักดังนี้
- จัดหาโคลนเหลือง (Yellow Clay) ที่เป็นวัตถุดิบหลัก
- สร้างชิ้นส่วนแยกหัว, ลำตัว, เสื้อคลุม, แขน, ขา และมือ ส่วนใบหน้าถูกสร้างขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์มากกว่า 10 แบบ
- ประกอบชิ้นส่วนทั้งหมดเข้าด้วยกัน
- แกะสลักรายละเอียดร่างกายและใบหน้า
- ทำการเผาในเตาเผาหลังจากผึ่งลมจนแห้ง
- ทาสี เดิมทหารดินเผาทั้งหมดมีสีสัน แต่สีจางหายไปหลังจากผ่านเวลากว่า 2,000 ปี
9. ทหารดินเผาส่วนใหญ่มีอาวุธอันตรายถึงชีวิต
เดิมทีทหารดินเผาส่วนใหญ่ถืออาวุธและเป็นอาวุธที่ใช้งานจริงในสงคราม แต่อาวุธจริงเหล่านั้นเป็นของมีค่าจึงถูกขโมยออกไปเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามมีการค้นพบอาวุธโลหะมากกว่า 40,000 ชิ้น มีทั้งดาบ กริช หอก ขวาน ดาบสั้น โล่ และหน้าไม้ แม้ถูกฝังใต้ดินนานกว่า 2,000 ปีแต่อาวุธเหล่านี้ยังคมและอันตรายอยู่เหมือนเดิม มีการค้นพบว่าอาวุธบางชนิดถูกเคลือบด้วยโครเมียมไดออกไซด์ก่อนการฝัง และนั่นอาจจะเป็นเทคโนโลยีการชุบโครเมียมเพื่อปกป้องโลหะจากการกัดกร่อนของชาวจีนโบราณก็เป็นได้
10. ม้าและรถม้าศึกก็เป็นผลงานยิ่งใหญ่และน่าทึ่ง
องค์ประกอบสำคัญของกองทัพทหารดินเผาอีกอย่างหนึ่งได้แก่ม้าและรถม้าศึก ม้าของกองทัพนี้เป็นม้าดินเผาด้วยเช่นกัน กระบวนการผลิตม้าดินเผาก็คล้ายกับของทหารคือทำแม่พิมพ์ส่วนหัว ลำตัว ขา และหางของม้าแยกส่วนกัน แล้วนำมาประกอบร่างติดกันด้วยดินเหนียวก่อนนำไปเข้าเตาเผา รวมทั้งมีการทาสีหลังการเผาด้วย สำหรับรถม้าศึกส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ แต่มีการค้นพบรถม้าศึก 2 ชุดที่ถูกจัดสร้างเป็นพิเศษประกอบด้วยรถม้าทำจากสำริดขนาดครึ่งหนึ่งของของจริงและม้าเทียมสำริด 4 ตัว มีพลขับ 1 นายพร้อมร่มที่ทำด้วยสำริดเช่นกัน
กองทัพทหารดินเผาที่มักถูกเรียกว่า “สิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมจีนโบราณเมื่อหลายพันปีก่อน พวกเขามีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านศิลปะและเทคโนโลยีอย่างเหลือเชื่อ แต่สิ่งสุดมหัศจรรย์นี้มิอาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่พยายามแสวงหาความเป็นอมตะอย่างจิ๋นซีฮ่องเต้
ข้อมูลและภาพจาก nationalgeographic, chinahighlights, wikipedia