1. ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton)
ไอแซก นิวตัน (ค.ศ. 1642 – 1727) นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาลและมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ หนังสือเล่มสำคัญของเขาที่ชื่อ Mathematical Principles of Natural Philosophy คือหนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ นิวตันได้คิดค้นกฎการเคลื่อนที่และกฎแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเสาหลักของการศึกษาจักรวาลทางกายภาพตลอดมา นิวตันแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนที่ของวัตถุบนโลกและวัตถุบนท้องฟ้าล้วนอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน นิวตันยังเป็นผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงที่สามารถใช้งานจริงได้เป็นเครื่องแรก เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีสี ค้นพบสเปกตรัมแสง คิดค้นกฎการเย็นตัว และศึกษาความเร็วของเสียง ผลงานของเขาช่วยให้การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
นิวตันให้กำเนิดวิชาคณิตศาสตร์แขนงใหม่หลายเรื่องด้วยกันได้แก่วิชาแคลคูลัส (Calculus) ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อแคลคูลัสเชิงอินทิกรัล (Integral Calculus) นิวตันยังค้นพบทฤษฎีบททวินาม (Binomial Theorem) และวิธีการกระจายอนุกรม (Method of Expression) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาพีชคณิต กล่าวกันว่าผลงานของนิวตันเป็นความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ในทุกสาขาของคณิตศาสตร์ในยุคนั้น จากตำนานลูกแอปเปิลตกนำไปสู่การสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างอเนกอนันต์ เมื่อนิวตันเสียชีวิตลงพิธีศพของเขาจึงถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่เทียบเท่ากษัตริย์ ศพของเขาฝังอยู่ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เช่นเดียวกับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงของอังกฤษ
ผลงานเด่น :
– คิดค้นกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน
– คิดค้นกฎแรงดึงดูดสากล
– พัฒนาวิชาแคลคูลัส
– คิดค้นทฤษฎีสี
วาทะเด็ด :
– “If I have seen further than others, it is by standing upon the shoulders of giants.” → ถ้าฉันสามารถมองได้ไกลกว่าคนอื่น นั่นเป็นเพราะว่าฉันยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์
– “Plato is my friend, Aristotle is my friend, but my greatest friend is truth.” → เพลโตเป็นเพื่อนของฉัน, อริสโตเติลเป็นเพื่อนของฉัน, แต่เพื่อนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฉันคือความจริง
2. ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)
ชาลส์ ดาร์วิน (คศ. 1809 – 1882) เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยาชาวอังกฤษ เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ดาร์วินเป็นผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ดาร์วินอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
ดาร์วินสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็ก ชอบการทดลองเกี่ยวกับสัตว์และพืช เขาศึกษาด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด จนกระทั่งได้รับเชิญเข้าร่วมเดินทางสำรวจทางทะเลทั่วโลกกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) เป็นเวลา 5 ปี ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคที่แตกต่างกัน เขาได้ศึกษาอย่างละเอียดและทำวิจัยเพิ่มเติมต่อเนื่อง และได้พิมพ์หนังสือชื่อ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา ช่วงแรกมีการโต้แย้งต่อต้านผลงานของเขาอย่างมากโดยเฉพาะจากฝ่ายศาสนจักร อีกหลายสิบปีต่อมาจึงเป็นที่ยอมรับและให้การยกย่อง นอกจากนี้เขายังมีผลงานเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์และการคัดเลือกทางเพศ และผลงานอื่นๆอีกมาก ดาร์วินได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ผลงานเด่น :
– ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Theory of natural selection)
– หนังสือการสืบเชื้อสายของมนุษย์และการคัดเลือกโดยสัมพันธ์กับเพศ (The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex)
วาทะเด็ด :
– “A man’s friendships are one of the best measures of his worth.” → มิตรภาพคือหนึ่งในวิธีวัดคุณค่าของมนุษย์ที่ดีที่สุด
– “I love fools’ experiments. I am always making them.” → ผมชอบการทดลองโง่ๆนะ ผมมักจะทำมันบ่อยๆด้วยสิ
3. ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday)
ไมเคิล ฟาราเดย์ (ค.ศ. 1791 – 1867) เป็นนักฟิสิกส์และนักเคมีชาวอังกฤษผู้ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้าและเป็นผู้ตั้งกฏของอิเล็กโทรลิซิส ที่สำคัญเขาได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ไม่ต้องใช้ปฏิกิริยาเคมีเป็นครั้งแรกคือไดนาโม (Dynamo) อันเป็นต้นแบบของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าและการใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าอย่างอเนกอนันต์ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้คิดค้นเหล็กกล้าไร้สนิมโดยการนำเหล็กมาผสมกับนิเกิลกลายเป็นเหล็กสเตนเสส (Stainless Steel) ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และเขายังเป็นผู้ค้นพบเบนซิน ค้นพบการทำให้คลอรีนเป็นของเหลว รวมทั้งเป็นผู้บัญญัติศัพท์เกี่ยวกับไฟฟ้าและเคมีอีกหลายคำซึ่งยังใช้งานอยู่ถึงทุกวันนี้ เช่น lon, Electrode, Cathode และ Anode
ฟาราเดย์เกิดมาในครอบครัวยากจน เขาแทบไม่มีโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยความตั้งใจจริงที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาจึงพยายามศึกษาด้วยตัวเอง ค่อยๆไต่เต้าไปทีละขั้นจากเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ช่างเย็บปกและซ่อมหนังสือ จนมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยของนักวิทยาศาสตร์ ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จได้เป็นศาสตราจารย์วิชาเคมีประจำราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) และมีผลงานสำคัญทั้งทางฟิสิกส์และเคมี นับเป็นตัวอย่างที่น่านับถือในความมานะพยายามศึกษาเรียนรู้จนทำให้จากเด็กด้อยโอกาสกลายเป็นเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งไฟฟ้า”
ผลงานเด่น :
– ผู้ค้นพบการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า
– ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือไดนาโม (Dynamo)
– คิดค้นเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel)
– ค้นพบสารเบนซิน
วาทะเด็ด :
– “Nothing is too wonderful to be true if it be consistent with the laws of nature.” → ไม่มีอะไรแปลกประหลาดเกินกว่าจะเป็นจริงได้ถ้าหากมันสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ
พอล ดิแรก (ค.ศ. 1902 – 1984) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทั้งกลศาสตร์ควอนตัมและพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม ได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในบิดาของกลศาสตร์ควอนตัม ความท้าทายนักฟิสิกส์ในปัจจุบันคือการรวมแรงพื้นฐาน 4 แรงเข้าด้วยกันซึ่งก็คือการรวมทฤษฎีควอนตัมเข้ากับทฤษฎีสัมพัทธภาพนั่นเอง ดิแรกได้คิดค้นสมการที่รวมทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษเข้ากับสมการกลศาสตร์ควอนตัมได้สำเร็จ เรียกว่าสมการดิแรก (Dirac Equation) และจากการแก้สมการนี้ทำให้เขาพบว่ามีปฏิอนุภาค โดยเขาได้ประกาศเมื่อปี 1931 ว่าอิเล็กตรอนมี 2 ชนิดคือ ชนิดมีประจุไฟฟ้าลบซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และอีกชนิดมีประจุไฟฟ้าบวก หลังจากนั้นปีหนึ่งมีผู้ค้นพบว่ามีอยู่จริงเรียกว่าโปสิตรอน อีก 23 ปีต่อมาก็มีการค้นพบปฏิอนุภาคของโปรตอนเรียกว่าแอนติโปรตอน และหลังจากนั้นมีการค้นพบปฏิอนุภาคของอนุภาคอื่นๆเพิ่มอีก นำไปสู่การยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบันว่าอนุภาคทุกชนิดจะมีปฏิอนุภาคเป็นคู่ๆกันอยู่
ผลงานเชิงทฤษฎีของดิแรกในเรื่องปฏิอนุภาคทำให้นักฟิสิกส์คนอื่นได้รับรางวัลโนเบลจากการค้นพบปฏิอนุภาคจริงๆ ส่วนตัวเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการค้นพบทฤษฎีอะตอมรูปแบบใหม่ ดิแรกเขียนตำราเกี่ยวกับวิชาควอนตัมชื่อ The Principle of Quantum Mechanics ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1930 และยังคงถือเป็น “คำภีร์ไบเบิล” ของวิชานี้จนถึงปัจจุบัน และเขายังมีผลงานอื่นด้านฟิสิกส์อีกมาก ดิแรกได้ดำรงตำแหน่ง Lucasian Professor of Mathematics แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นานถึง 37 ปี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติอย่างสูงในวงการวิทยาศาสตร์ ไอแซก นิวตันก็เคยดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกๆ ด้วยผลงานที่สำคัญมากมายดิแรกจึงได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์คนสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20
ผลงานเด่น :
– คิดค้นสมการดิแรก (Dirac Equation)
– ทำนายการมีอยู่ของปฏิอนุภาค (Anti-matter)
– เขียนตำรา The Principle of Quantum Mechanics
– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์
วาทะเด็ด :
– “Scientific progress is measured in units of courage, not intelligence.” → ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์วัดจากหน่วยของความกล้าหาญ ไม่ใช่ความฉลาด
จอห์น ดาลตัน (ค.ศ. 1766 – 1844 ) เป็นนักเคมีและนักอุตุนิยมวิทยาชาวอังกฤษผู้ริเริ่มทฤษฎีอะตอมเป็นคนแรกนับจากสมัยโบราณที่นักปราชญ์มีแค่แนวคิดว่าสสารประกอบด้วยหน่วยขนาดเล็กที่แบ่งแยกไม่ได้เรียกว่าอะตอม ดาลตันได้ทำการวิจัยทดลองและสรุปเป็นทฤษฎีอะตอมที่มีหลักการชัดเจนหลายอย่างรวมทั้งระบุว่าอะตอมของธาตุต่างชนิดจะแตกต่างกันทั้งขนาด น้ำหนัก และคุณสมบัติอื่นๆ โดยเขาได้ทำการทดลองหาค่าน้ำหนักอะตอมของธาตุเกือบทุกชนิดที่รู้จักโดยเทียบกับน้ำหนักอะตอมของไฮโดรเจน ทฤษฎีอะตอมของดาลตันนับเป็นจุดเริ่มต้นของแบบจำลองอะตอมในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาเคมีอย่างมาก
ดาลตันเป็นคนตาบอดสีซึ่งสร้างปัญหาให้กับเขาไม่น้อย เขาทำการศึกษาและตีพิมพ์สาเหตุของการเกิดโรคนี้ ต่อมาโรคนี้จึงมักถูกเรียกว่า Daltonism ดาลตันมีผลงานทางวิทยาศาสตร์อีกมาก เช่น การคิดค้นกฎความดันย่อยของก๊าซหรือ Dalton’s law และผลงานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาซึ่งเขามีการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศทุกวันเป็นเวลา 57 ปี ดาลตันทุ่มเทเวลาแทบทั้งหมดให้กับงานทางวิทยาศาสตร์ เขาไม่เคยแต่งงาน มีความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายและถ่อมตัว เมื่อเสียชีวิตเขาได้รับการจัดงานศพอย่างสมเกียรติในฐานะบุคคลสำคัญ มีผู้มาเคารพศพกว่า 40,000 คน
ผลงานเด่น :
– คิดค้นทฤษฎีอะตอม
– ค้นพบสาเหตุโรคตาบอดสี
– คิดค้นกฏความดันย่อยของก๊าซ (Dalton’s law)
วาทะเด็ด :
– “It’s the right idea, but not the right time.” → มันเป็นความคิดที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม
6. ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee)
ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (ค.ศ. 1955 – ปัจจุบัน) เป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษผู้คิดค้นระบบข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า World Wide Web (WWW) อันทรงพลังที่ทำให้ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เบอร์เนอร์ส-ลีมีแนวคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1980 แต่มีโอกาสได้ทำจริงในปี 1990 เขานำแนวคิดเรื่อง Hypertext เชื่อมโยงเข้ากับ Transmission Control Protocol (TCP) ซึ่งเป็นโปรโตคอลหลักของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและแนวคิดระบบการตั้งชื่อโดเมน (Domain Name System: DNS) สร้างเป็น WWW โดยเขาได้ออกแบบและสร้างเว็บเบราว์เซอร์ตัวแรกของโลกกับสร้างเว็บเซิร์ฟเวอร์ขึ้น แล้วนำเว็บไซต์แรกของโลกออนไลน์ในปี 1911 หลังจากนั้น WWW ก็ได้รับความนิยมและกลายเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันเบอร์เนอร์ส-ลียังเป็นศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและสถาบัน MIT เขาได้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท World Wide Web Consortium (W3C) เพื่อดูแลการพัฒนา WWW อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีบทบาทและมีส่วนร่วมในองค์กรสำคัญอีกหลายแห่ง จากผลงานการคิดค้น WWW ที่สร้างความเจริญก้าวหน้าในด้านการค้นหาและการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลข่าวสารชนิดเปลี่ยนโลกนี้ ทำให้เขาได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ และได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20
ผลงานเด่น :
– ประดิษฐ์คิดค้น World Wide Web
วาทะเด็ด :
– “Innovation is serendipity, so you don’t know what people will make.” → นวัตกรรมคือความโชคดีในความบังเอิญ, ดังนั้นคุณจึงไม่ทราบหรอกว่าผู้คนจะสร้างอะไร
7. สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking)
สตีเฟน ฮอว์กิง (ค.ศ. 1942 – 2018) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยาคนสำคัญของโลกชาวอังกฤษในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ผลงานการค้นพบการแผ่รังสีของหลุมดำที่เรียกว่ารังสีฮอร์กิงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในฟิสิกส์ทฤษฎี นอกจากนี้เขายังมีงานวิจัยในประเด็นการไขความลี้ลับของหลุมดำและจักรวาลอันเป็นเรื่องที่เข้าใจและพิสูจน์ได้ยากอย่างยิ่งอีกหลายอย่าง รวมทั้งเสนอแนวคิดที่ว่าข้อมูลทางกายภาพอาจหายไปอย่างถาวรในหลุมดำซึ่งขัดกับหลักทฤษฎีควอนตัมหรือที่เรียกกันว่าความขัดแย้งของการสูญเสียข้อมูลในหลุมดำ อันนำไปสู่การถกเถียงในหมู่นักฟิสิกส์อย่างยาวนานถึงปัจจุบัน หนังสือ A Brief History of Time ที่เขาเขียนอธิบายเกี่ยวกับความเป็นไปของจักรวาลได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นหนังสือวิชาการที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์
ฮอว์กิงเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงขั้นร้ายแรงขณะที่เรียนในมหาวิทยาลัย โรคนี้มีผลต่อเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังซึ่งจะทำให้เขาเป็นอัมพาตทั่วร่างกาย แพทย์บอกว่าเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น แต่เขาไม่เคยยอมแพ้รับมือกับความพิการของร่างกายด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง แม้ในที่สุดต้องกลายเป็นคนพิการเดินไม่ได้พูดไม่ได้แต่เขายังคงมุ่งมั่นทำงานวิจัยจนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เขาใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ข้อความจากนั้นใช้เครื่องสังเคราะห์เสียงผ่านทางซอฟต์แวร์แปลงข้อความเป็นเสียงช่วยให้สามารถสื่อสารกับคนอื่นหรือใช้สำหรับการบรรยายในห้องเรียน และวิธีนี้ในการเขียนบทความและหนังสือต่างๆด้วยความพยายามและความอดทนสูงมาก เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเมธีลูเคเชียนของมหาวิทยาแคมบริดจ์นานถึง 30 ปี และได้รับการยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกหลังจากยุคของ Albert Einstein
ผลงานเด่น :
– การค้นพบการแผ่รังสีของหลุมดำ
– เขียนหนังสือ A Brief History of Time ซึ่งเป็นหนังสือวิชาการที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์
วาทะเด็ด :
– “However difficult life may seem, there is always something you can do and succeed at. It matters that you don’t just give up.” → แม้ชีวิตจะดูยากลำบาก แต่ก็มีบางสิ่งที่คุณสามารถทำได้และประสบความสำเร็จอยู่เสมอ สำคัญว่าอย่าเพิ่งยอมแพ้
– “Intelligence is the ability to adapt to change.” → ปัญญาคือความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
แอลัน ทัวริง (ค.ศ. 1912 – 1954) เป็นนักคณิตศาสตร์และนักถอดรหัสลับชาวอังกฤษที่มีผลงานโดดเด่นมาก เขาเป็นผู้คิดค้น Universal Turing Machine ที่เป็นต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ซึ่งทำงานด้วยโปรแกรมหรืออัลกอริทึม และเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมได้ที่เรียกว่า ACE (Automatic Computing Engine) เป็นครั้งแรกของโลก นอกจากนี้เขายังเป็นผู้บุกเบิกเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมทั้งเสนอวิธีทดสอบว่าเครื่องจักรหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวไหนมีขีดความสามารถถึงขั้นที่เรียกว่า “ฉลาด” ที่เรียกกันว่า Turing test ซึ่งถูกนำมาใช้งานโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเขาได้สร้างผลงานสำคัญคือออกแบบเครื่องถอดรหัสที่สามารถถอดรหัสลับของกองทัพนาซีได้สำเร็จ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามเร็วขึ้นและช่วยให้ผู้คนรอดพ้นการเสียชีวิตจากสงครามหลายล้านคน
ทัวริงเป็นเกย์หรือชายรักชายซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปและยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายของประเทศอังกฤษ เขาจำต้องปกปิดรสนิยมทางเพศของตัวเองมาโดยตลอดรู้กันเฉพาะคนใกล้ชิดเท่านั้น แต่แล้ววันหนึ่งเขาถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาถูกตั้งข้อหาทำ “อนาจารอย่างร้ายแรง” และถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด เขาถูกลงโทษโดยต้องรับการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลา 1 ปี ผลของมันคือทำให้เขาหมดสมรรถภาพทางเพศและหน้าอกโตขึ้น นอกจากนี้เขายังถูกห้ามทำงานด้านการถอดรหัสลับที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติด้วย หลังจากนั้นไม่กี่ปีเขาได้จบชีวิตตัวเองด้วยการกินแอปเปิลที่มีพิษของไซยาไนด์จากไปอย่างน่าเศร้าใจ ด้วยผลงานการคิดค้นต้นแบบเครื่องคอมพิวเตอร์และการบุกเบิกด้านปัญญาประดิษฐ์ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์”
ผลงานเด่น :
– คิดค้น Universal Turing Machine ต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยใหม่
– คิดค้น Turing test วิธีทดสอบความฉลาดปัญญาประดิษฐ์
– ออกแบบเครื่องถอดรหัสลับกองทัพนาซี
วาทะเด็ด :
– “Sometimes it is the people no one imagines anything of who do the things that no one can imagine.” → บางครั้งคนที่ไม่มีใครคาดคิดคือผู้ที่ทำในสิ่งที่ไม่มีใครสามารถจินตนาการได้
9. เฟรเดอริก แซงเจอร์ (Frederick Sanger)
เฟรเดอริก แซงเจอร์ (ค.ศ. 1918 – 2013) เป็นนักชีวเคมีชาวอังกฤษผู้เป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี 2 ครั้ง หลังจากเรียนจบปริญญาเอกสาขาชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แล้วแซงเจอร์ก็ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างของโปรตีนโดยเฉพาะของอินซูลินมาโดยตลอด เขาใช้เวลาศึกษาวิจัยนานถึง 12 ปีในที่สุดเขาก็สามารถค้นพบโครงสร้างของโปรตีนอินซูลินที่ถูกต้องเป็นผลสำเร็จ ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1958 และการค้นพบของแซงเจอร์ยังมีส่วนสำคัญต่อ Francis Crick ในการพัฒนาความคิดเรื่องการกำหนดรหัสดีเอ็นเอของโปรตีนอีกด้วย
ต่อมาแซงเจอร์เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการเรียงลำดับโมเลกุลของ RNA และเริ่มพัฒนาเทคนิคในการหาลำดับเบส จากนั้นเขาหันมาศึกษาการหาลำดับเบสของ DNA ซึ่งต้องใช้แนวทางที่แตกต่างกัน เขาได้ศึกษาในหลายวิธีจนถึงปี 1977 เขาก็ค้นพบวิธีหาลำดับเบสของ DNA ที่เรียกว่า “Sanger method” ซึ่งสามารถเรียงลำดับเบสของ DNA สายยาวๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ผลงานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีอีกครั้งหนึ่งในปี 1980 ร่วมกับ Walter Gilbert และ Paul Berg นอกจากนี้แซงเจอร์ยังประสบความสำเร็จในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาปริญญาเอก ในบรรดาลูกศิษย์ของเขาที่มีมากกว่า 10 คนมีถึง 2 คนที่ได้รับรางวัลโนเบล
ผลงานเด่น :
– ค้นพบโครงสร้างของโปรตีนอินซูลิน
– คิดค้นวิธีหาลำดับเบสของ DNA “Sanger method”
– รางวัลโนเบลสาขาเคมี 2 ครั้ง
วาทะเด็ด :
– “Scientific research is one of the most exciting and rewarding of occupations.” → การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในงานที่น่าตื่นเต้นและให้ผลคุ้มค่ามากที่สุด
10. ฮัมฟรี เดวี (Humphry Davy)
ฮัมฟรี เดวี (ค.ศ. 1778 – 1829) เป็นนักเคมีและนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานมากมาย เขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้ไฟฟ้าในการแยกธาตุ เดวีใช้วิธีอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) หลอมเหลวเกลือและค้นพบธาตุใหม่จำนวนมาก ได้แก่ โซเดียม, โปแตสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม, แบเรียม, โบรอน และคลอรีน เขายังพบคุณสมบัติพิเศษของไนตรัสออกไซด์ที่เขาเรียกว่าก๊าซหัวเราะซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นยาสลบในการผ่าตัดได้ ด้วยผลงานสำคัญมากมายทำให้เดวีได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน รวมทั้งได้รับรางวัลเกียรติยศจากราชบัณฑิตยสภาแห่งฝรั่งเศสทั้งๆที่อังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังทำสงครามกัน
ต่อมาเดวีได้ช่วยแก้ไขปัญหาเหมืองถ่านหินระเบิดเนื่องจากในเหมืองมืดต้องใช้ตะเกียงส่องสว่างแต่บางครั้งมีก๊าซติดไฟจึงเกิดระเบิดทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก เดวีได้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัยที่เรียกกันว่า Davy lamp ซึ่งสามารถใช้แก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังมีผลงานด้านวิทยาศาสตร์อีกมากมาย เขาได้รับตำแหน่งบารอนเน็ตที่สูงกว่าอัศวิน เป็นนายกราชสมาคมแห่งลอนดอนอันทรงเกียรติ และได้รับรางวัลเกียรติยศอื่นๆอีกหลายอย่าง เดวีเคยพูดแบบขำๆว่าการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือผู้ช่วยของเขาเองซึ่งก็คือ Michael Faraday
ผลงานเด่น :
– บุกเบิกการใช้ไฟฟ้าด้วยวิธีอิเล็กโทรลิซิสในการแยกธาตุ
– ค้นพบธาตุใหม่จำนวนมาก เช่น โซเดียม, โปแตสเซียม และคลอรีน
– ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย Davy lamp
วาทะเด็ด :
– “The most important of my discoveries have been suggested to me by my failures.” → สิ่งสำคัญที่สุดของการค้นพบของฉันได้รับการชี้แนะต่อฉันจากความล้มเหลวของฉันเอง
– “I have learned more from my mistakes than from my successes.” → ฉันได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของฉันมากกว่าจากความสำเร็จของฉัน
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, biography, britannica