แนวคิดเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยมี Paul Benioff เป็นผู้บุกเบิก หน่วยที่เล็กที่สุดในดิจิตอลคอมพิวเตอร์คือบิท (bit) ซึ่งมีสถานะเป็น 1 หรือ 0 อย่างใดอย่างหนึ่ง การประมวลผลจะทำทีละคำสั่งตามสถานะของบิท แต่สำหรับควอนตัมคอมพิวเตอร์มีหน่วยที่เล็กที่สุดเรียกว่าคิวบิท (Qubit) ซึ่งมีสถานะเป็น 1 และ 0 พร้อมกันได้ (ตามหลักของกลศาสตร์ควอนตัม) หรืออยู่ระหว่าง 1 กับ 0 ได้ทุกๆค่า จะแบ่งซอยย่อยเป็นกี่พันกี่ล้านค่าก็ได้ ทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์มีวิธีการประมวลผลต่างออกไป สามารถประมวลผลแบบขนานได้ คือสามารถประมวลผลคำสั่งนับล้านคำสั่งได้ในครั้งเดียว จึงทำงานได้เร็วกว่าดิจิตอลคอมพิวเตอร์อย่างมาก
ไมโครซอฟท์ทำการวิจัยในเรื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ปี 2005 ที่ห้องแล็บที่ชื่อ Station Q พวกเขามีเหตุผลและข้อมูลมากพอที่ทำให้เชื่อว่ายังเหลืออีกไม่กี่ขั้นตอนก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ยาวนานนับทศวรรษของพวกเขาได้ นั่นคือสร้างเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ต้นแบบที่ทำงานได้ผล แม้ว่านักฟิสิกส์และนักคอมพิวเตอร์ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะสามารถสร้างควอนตัมคอมพิวเตอร์ได้จริงหรือไม่
ไมโครซอฟท์ได้ตัดสินใจเดินหน้าขยับต่อจากการทำวิจัยเพียงอย่างเดียวมาเป็นการสร้างเครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์จริงๆซึ่งเน้นย้ำถึงการแข่งขันระดับโลกระหว่างผู้นำในวงการเทคโนโลยีที่รวมถึง Google และ IBM ด้วย
โครงการนี้อยู่ในการดูแลของ Todd Holmdahl ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา Xbox, Kinect และ HoloLens ไมโครซอฟท์ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปในวงการควอนตัมคอมพิวเตอร์มาเสริมทีมแล้ว 2 คน คือ Leo Kouwenhoven จากมหาวิทยาลัยเดลฟ์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Charles Marcus จากสถาบันนีลส์โบร์ ประเทศเดนมาร์ก และยังจะมีตามมาอีกหลายคน
“ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ตรงจุดเปลี่ยน เราพร้อมที่จะเปลี่ยนจากงานวิจัยไปสู่งานวิศวกรรม” Holmdahl กล่าว “แต่คุณจะต้องแบกความเสี่ยงเอาไว้ถ้าจะทำสิ่งยิ่งใหญ่ที่จะเปลี่ยนโลก และผมคิดว่าเราอยู่ในจุดที่มีโอกาสจะทำได้สำเร็จ”
ติดตามดูกันต่อไปว่าผลจะออกมาอย่างไร เมื่อไมโครซอฟท์ลงสนามมาเต็มตัวแบบนี้ รายอื่นมีหรือจะยอม
ข้อมูลและภาพจาก microsoft, nytimes