เจดีย์น้ำแข็งในทะเลทราย ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในยามที่ขาดแคลน

ทุกๆปีบริษัทโรเล็กซ์ เจ้าของแบรนด์นาฬิกาสุดหรูแพงระยับ จะมอบรางวัล Rolex Awards for Enterprise ให้กับผู้ที่มีนวัตกรรมสร้างสรรค์ช่วยทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลประจำปี 2016 เป็นเจ้าของสุดยอดความคิดสร้างสรรค์กับการสร้าง ‘เจดีย์น้ำแข็งในทะเลทราย’ ที่ไม่ซับซ้อน ทำง่าย ลงทุนน้อย แต่มีประโยชน์ต่อผู้คนมากเหลือเกิน

ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงแถบเชิงเขาหิมาลัยที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทราย ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อนของทุกปี ในฤดูหนาวน้ำที่เกิดจากธารน้ำแข็งละลายจะไหลไปตามคลองและลำธารผ่านลงมายังพื้นที่ด้านล่าง ขณะที่พื้นดินกลายเป็นน้ำแข็งและอากาศก็หนาวเย็นเกินไป ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช น้ำจึงไหลผ่านไปโดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

พอเข้าฤดูใบไม้ผลิจะเป็นช่วงของการเพาะปลูก ทุกคนต้องการน้ำ น้ำจึงมีไม่เพียงพอ ลำธารแห้งเหือด ความสงบสุขเริ่มสั่นคลอน บางครั้งมีการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงน้ำ

เมื่อสามปีที่แล้ว Sonam Wangchuk วิศวกรเครื่องกล ชาวแคว้นลาดักห์ ประเทศอินเดีย ได้ขับรถผ่านสะพานและได้เห็นน้ำแข็งอยู่ที่เงาของสะพาน ทำให้เขาเกิดไอเดียในการแก้ปัญหาการไม่มีน้ำใช้ของผู้คนแถบนี้ขึ้นมา โดยการต่อยอดจากความคิดของวิศกรอีกคนหนึ่ง

ice-stupa-4

Chewang Norphel เป็นวิศวกรรุ่นพี่และเพื่อนของเขา เป็นผู้บุกเบิกการทำลานน้ำแข็งบนภูเขาในช่วงฤดูหนาว โดยการเปลี่ยนทางน้ำให้ไหลมายังพื้นที่ที่กำหนด แล้วปล่อยให้แข็งตัวเป็นชั้นน้ำแข็ง จากนั้นจึงปล่อยน้ำเพิ่มเข้ามา ทำชั้นน้ำแข็งหนาขึ้นเรื่อยๆ จนหนาถึง 2 เมตร เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิน้ำแข็งเริ่มละลายและไหลผ่านลำธารไปยังไร่นาข้างล่าง แต่เขาพบปัญหาว่าน้ำแข็งละลายเร็วเกินไป ชาวบ้านหมดน้ำใช้ก่อนถึงฤดูร้อน

เมื่อ Wangchuk เห็นน้ำแข็งในเงาใต้สะพาน ทำให้เขาเข้าใจข้อเท็จจริง น้ำแข็งไม่ละลายในที่ที่อยู่ต่ำที่สุดของแคว้นลาดักห์ ท่ามกลางแสงแดดในฤดูร้อน สิ่งที่ทำให้น้ำแข็งละลายไม่ใช่อุณหภูมิของอากาศหรือระดับที่ต่ำ แสงแดดโดยตรงต่างหากที่เป็นตัวการหลัก ถ้าน้ำแข็งอยู่ในเงามันจะอยู่ได้นานกว่า แต่การทำหลังคาให้กับลานน้ำแข็งบนภูเขาสูงไม่น่าจะเวิร์ก ถ้าทำให้พื้นผิวที่โดนแสงแดดมีน้อยที่สุดน่าจะได้ผลดีกว่า

คำตอบจึงอยู่ที่การทำให้น้ำแข็งตัวเป็นรูปโคนหรือเจดีย์ซึ่งมีพื้นผิวที่สัมผัสกับแสงแดดน้อยที่สุดนั่นเอง

ปี 2013 Wangchuk และนักเรียนของเขาช่วยกันสร้างเจดีย์น้ำแข็ง (Ice Stupa) ต้นแบบสูง 6 ฟุต (1.8 เมตร) โดยใช้น้ำ 150,000 ลิตร ที่เมืองเลห์ (เมืองหลวงของแคว้นลาดักห์) พวกเขาต่อท่อน้ำจากลำธารบนภูเขา ปล่อยให้น้ำไหลตามธรรมชาติ ไม่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องยนต์ใดๆ มายังจุดที่ระดับต่ำลงมาราว 3,000 เมตร น้ำจากท่อปะทุพุ่งขึ้นไปเป็นละอองหมอกและกลายเป็นน้ำแข็งก่อนที่จะตกลงถึงพื้น ละอองน้ำแข็งก่อตัวสะสมเป็นพีระมิดลักษณะคล้ายกับน้ำตาเทียน มันอยู่ได้จนถึงเดือนพฤษภาคม

ice-stupa-2

ด้วยเงินบริจาค 7.5 ล้านรูปี พวกเขาสร้างเจดีย์น้ำแข็งขนาดใหญ่ขี้นในปี 2014 ซึ่งสามารถปล่อยน้ำได้ 2 ล้านลิตรจนถึงเดือนมิถุนายน ค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือค่างานวางท่อสำหรับส่งน้ำจากลำธารมายังจุดที่ทำเจดีย์น้ำแข็ง แต่เมื่อลงทุนไปแล้วก็จะสามารถทำเจดีย์น้ำแข็งได้ทุกๆปีด้วยต้นทุนที่น้อยมาก

ice-stupa-3

“ต้นทุนค่าวัสดุอุปกรณ์อยู่ที่ราว 0.025 รูปีต่อลิตร” Wangchuk บอก “หลังจากนั้นเราก็ได้น้ำฟรี” เจดีย์น้ำแข็งขนาดสูง 30 เมตรจะเก็บน้ำได้ถึง 15 ล้านลิตร ซึ่งส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ถึง 50 เฮกตาร์ หรือ 312 ไร่

ภายในของเจดีย์มีลักษณะคล้ายที่พักอาศัยของชาวเอสกิโมถูกแยกจากน้ำแข็งโดยพลาสติก เป็นที่ที่ทีมงานใช้ในการควบคุมความสูงของท่อและปริมาณการไหลของน้ำในขณะสร้างเจดีย์น้ำแข็ง หลังจากเสร็จงานสามารถให้นักท่องเที่ยวเช่าพัก เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ของท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง

Wangchuk ได้รับรางวัลจากโรเล็กซ์เป็นเงิน 100,000  ฟรังก์สวิส หรือราว 3.5 ล้านบาท พร้อมกับนาฬิกาสุดหรูสลักชื่อของเขาเองจากมือของ มิเชล โมนาแกน ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง

 

ข้อมูลและภาพจาก  thewire, rolexawards

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *