แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้งได้วิเคราะห์ข้อมูลจากบันทึกการเดินทางของเหล่านักสำรวจขั้วโลกใต้เมื่อกว่าร้อยปีก่อนพบว่า สถานการณ์น้ำแข็งหดตัวที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักร ไม่ได้เกิดจากภาวะโลกร้อน และยังอธิบายได้ว่าทำไมระดับทะเลน้ำแข็งจึงเริ่มสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ซึ่งเป็นแนวโน้วที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเกาหัวตัวเองด้วยความไม่เข้าใจ
“ภารกิจของนักสำรวจ Scott และ Shackleton ถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นความล้มเหลวที่กล้าหาญ แต่ข้อมูลที่บันทึกไว้โดยพวกเขารวมถึงนักสำรวจคนอื่นๆด้วยได้ทำให้เราเข้าใจการขึ้นและลงของทะเลน้ำแข็งอย่างลึกซึ้ง” Jonathan Day หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
“เรารู้ว่าน้ำแข็งค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อยมาตั้งแต่เริ่มมีการสังเกตการณ์ด้วยดาวเทียมเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น แต่จากผลการวิจัยบ่งชี้ว่ามันอาจจะไม่มีอะไรใหม่เลย”
งานวิจัยได้ศึกษาข้อมูลการสังเกตการณ์น้ำแข็งที่ได้บันทึกในสมุดปูมเรือของการเดินทาง 11 เที่ยว ในช่วงระหว่างปี 1897 และ 1917 ทีมวิจัยคำนวณทะเลน้ำแข็งของช่วงก่อนทศวรรษ 1900 มีปริมาณระหว่าง 5.3 – 7.4 ล้านตารางกิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าน้ำแข็งเพิ่มขึ้นจากทศวรรษ 1900 จนสูงสุดในทศวรรษ 1950 แล้วจึงลดลงอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
จากผลคำนวณพบว่าทะเลน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกามีขนาดลดลงจากช่วงที่มากที่สุดราว 14% แต่ยังมากกว่าช่วงที่น้อยที่สุดราว 12%
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าทะเลน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกามีความผันผวนขึ้นลงตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ไม่เหมือนกับที่อาร์กติกที่น้ำแข็งลดลงรุนแรงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 เห็นได้ชัดว่าทะเลน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกาไม่ได้อ่อนไหวไปตามภาวะโลกร้อนเหมือนกับที่อาร์กติก
ในอนาคตทีมงานมีแผนจะใช้ข้อมูลจากกองทัพเรือและเรือล่าปลาวาฬ รวมทั้งบันทึกการเดินทางของ Roald Amundsen (มนุษย์คนแรกที่ไปถึงขั้วโลกใต้) มาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์รวมถึงคาดการณ์ความเป็นไปในอนาคต
ข้อมูลและภาพจาก telegraph, newatlas