ยานแคสซีนีเพิ่งจะสิ้นสุดภารกิจบินโฉบผ่านดวงจันทร์ไททันครั้งที่สอง ซึ่งได้ถ่ายภาพไททันทั้งในแสงปกติและแสงอินฟราเรด เพื่อเปรียบเทียบกับตอนโฉบผ่านครั้งแรก และได้ทำแผนที่อุหภูมิของไททันเพื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาทำความเข้าใจองค์ประกอบของบรรยากาศของดวงจันทร์ดวงนี้
แรงโน้มถ่วงจากไททันช่วยส่งให้ยานแคสซีนีเข้าสู่วงโคจรใหม่ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน มันจะคงวงโคจรแบบนี้ไปจนถึงเดือนเมษายน 2017 และในระหว่างนั้นยานจะโคจรเข้าใกล้วงแหวน F ซึ่งเป็นขอบของระบบวงแหวนหลักสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง รวม 20 ครั้ง โดยระยะใกล้ที่สุดน้อยกว่า 8,000 กิโลเมตร (รูปด้านล่าง เส้นสีฟ้าแสดงวงโคจรของยานแคสซีนี)
“เราเรียกภารกิจช่วงนี้ว่า Cassini’s Ring-Grazing Orbits เพราะเราจะโฉบผ่านขอบนอกของวงแหวน” Linda Spilker นักวิทยาศาตร์ในโครงการนี้กล่าว “เรามีเครื่องมือสองอย่างที่จะใช้เก็บตัวอย่างอนุภาคและก๊าซในขณะที่บินข้ามระนาบวงแหวน คล้ายๆกับยานแคสซีนีครูดไปบนวงแหวน”
ในระหว่างการโคจรยานแคสซีนีจะถ่ายภาพความละเอียดสูงของโครงสร้างวงแหวนดาวเสาร์ วงแหวนแต่ละชั้นกว้างมากมีตั้งแต่หลายพันถึงหลายหมื่นกิโลเมตร แต่มีความหนาน้อยมาก ไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร จึงมีลักษณะคล้ายกระดาษที่บางมากๆ
ยานแคสซีนียังจะถ่ายภาพของดวงจันทร์บริวารสี่ดวง คือ Pandora, Atlas, Pan และ Daphnis ซึ่งมีขนาดเล็กมาก กว้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร เล็กเกินกว่าที่จะทำให้มีรูปร่างเป็นทรงกลมด้วยแรงโน้มถ่วงของมันเอง แต่บางทีอาจจะมีร่องรอยบางอย่างเกี่ยวกับกำเนิดของวงแหวนดาวเสาร์
หลังจบการสำรวจวงแหวนในเดือนเมษายน 2017 ยานแคสซีนีก็จะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของมันเพราะว่าเชื้อเพลิงเหลือน้อยเต็มที ถ้าเชื้อเพลิงหมดนาซาจะควบคุมมันไม่ได้ ยานจะถูกนำไปอยู่ที่ระดับ 1,600 กิโลเมตรเหนือระดับเมฆชั้นบนสุด จากนั้นจะส่งมันดำดิ่งลงไปผ่านช่องว่างระหว่างดาวแก๊สยักษ์กับวงแหวนของมัน และในวันที่ 15 กันยายน ยานแคสซีนีก็จะพุ่งตรงดิ่งเข้าสู่บรรยากาศของดาวเสาร์ ยานจะระเบิดแตกกระจาย เป็นอันสิ้นสุดภารกิจในอวกาศยาวนานถึง 20 ปี
ข้อมูลและภาพจาก nasa, theverge