จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์คลุมเหนือคลองส่งน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียยาว 6,400 กิโลเมตรสามารถลดการระเหยของน้ำได้ถึง 82% ช่วยประหยัดน้ำได้ปีละ 286 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับพื้นที่การเกษตรกว่า 126,000 ไร่ หรือเพียงพอสำหรับการใช้ในที่พักอาศัยของประชาชนมากกว่า 2 ล้านคน และถ้าหากติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์คลุมเหนือคลองส่งน้ำทั้งหมดในรัฐแคลิฟอร์เนียจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 13 กิกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตที่ต้องการเพื่อให้ถึงเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2030
โครงการนี้เรียกว่า Project Nexus เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกับสำนักทรัพยาการน้ำแห่งแคลิฟอร์เนีย มีการจัดสรรเงินให้กับโครงการนี้แล้ว 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีแผนติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ชุดแรกเหนือคลองชลประทานในเขต Central Vally ของรัฐแคลิฟอร์เนียความยาวรวม 2.5 กิโลเมตร คลองชลประทานในเขตดังกล่าวมีความกว้าง 6 – 30 เมตร
“โซลาร์ฟาร์มเหนือคลองเป็นตัวอย่างของการประสานพลังงานและน้ำที่ให้ประโยชน์ด้านความยั่งยืนหลายประการ” Brandi McKuin หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “การใช้คลองส่งน้ำทำโซลาร์ฟาร์มช่วยประหยัดน้ำในขณะเดียวกันก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วย และยังหลีกเลี่ยงการใช้ที่ดินขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์”
อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคกับความท้าทายที่จะต้องเอาชนะให้ได้อยู่ด้วย เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปบำรุงรักษาคลอง อีกทั้งการติดตั้งและบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงการส่งกระแสไฟฟ้าเชื่อมโยงไปยังระบบไฟฟ้าเดิมอาจมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป จึงหวังว่าโครงการ Project Nexus จะสามารถขจัดปัญหาและข้อกังวลดังกล่าวได้ทั้งหมด
ข้อมูลและภาพจาก universityofcalifornia.edu, newatlas