งานวิจัยใหม่ระบุสโตนเฮนจ์คือ “ปฏิทิน” ของคนสมัยโบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อน

สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) เป็นอนุสรณ์สถานเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สร้างความทึ่งและความพิศวงให้กับผู้คนมาอย่างเนิ่นนาน นักโบราณคดีพยายามค้นหาว่าใครเป็นผู้สร้างสโตนเฮนจ์และสร้างขึ้นเพื่ออะไรแต่จนถึงปัจจุบันทุกอย่างยังไม่กระจ่างชัด ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ระบุว่าสโตนเฮนจ์คือ “ปฏิทิน” ของคนสมัยโบราณเมื่อ 5,000 ปีก่อน

แม้ว่าจะไม่มีใครแน่ใจได้ว่าสโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นเพื่ออะไร แต่ความคิดที่ว่ามันถูกสร้างเพื่อใช้เป็นปฏิทินยุคโบราณนั้นมีมาช้านานแล้ว เนื่องจากมันมีโครงสร้างน่าพิศวงที่เกี่ยวพันกับทางดาราศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์นั่นเอง อย่างไรก็ตามยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่ามันถูกใช้อย่างไร แต่ในงานวิจัยล่าสุดของ Timothy Darvill ศาสตราจารย์โบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยบอร์นมัท สหราชอาณาจักร ระบุว่าสโตนเฮนจ์เป็นปฏิทินถาวรที่ “เรียบง่ายและสง่างาม” โดยอิงตามปีสุริยคติที่มี 365.25 วัน

โครงสร้างหลักของสโตนเฮนจ์ประกอบด้วยแท่งหินขนาดใหญ่วางเรียงกันเป็นวงกลมหลายชั้น วงนอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 33 เมตรประกอบด้วยแท่งหินแนวตั้งจำนวน 30 แท่งเรียกว่า Sarsen stones (ปัจจุบันเหลือ 16 แท่ง) แต่ละแท่งมีขนาดสูง 4.1 เมตร กว้าง 2.1 เมตรหนักราว 25 ตัน และหินทับหลังที่วางเรียงเป็นวงแหวนอยู่ด้านบนจำนวน 30 ก้อน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่ก้อน ส่วนนี้บางทีเรียกว่า Sarsen Circle

ด้านในยังมีหิน Sarsen stones แท่งใหญ่ที่ถูกวางเป็นชุดแนวตั้งสองแท่งกับทับหลังหนึ่งอันเรียกว่า Trilithon จำนวน 5 ชุดวางเรียงเป็นรูปเกือกม้าเรียกว่า Sarsen Horseshoe ใกล้กับศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์ยังมีแท่งหินพิเศษอีกแท่งหนึ่งเรียกว่า Altar Stone ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องในทางดาราศาสตร์กับแท่งหินโดดเดี่ยวขนาดใหญ่หนัก 35 ตันที่อยู่ห่างออกไปจากจุดศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 77.4 เมตรที่เรียกว่า Heel Stone นอกจากนี้ยังมีแท่งหินที่ถูกติดตั้งในตำแหน่งพิเศษอื่นๆอีก เช่น หิน 4 แท่งด้านนอกที่เรียกว่า Station Stone ซึ่งจุดตัดของเส้นทแยงมุมจากหินทั้งสี่แท่งนี้จะเป็นจุดศูนย์กลางของสโตนเฮนจ์พอดี

Darvill ได้ทำการวิเคราะห์จำนวนและตำแหน่งของแท่งหินเหล่านี้โดยละเอียด รวมถึงการเปรียบเทียบกับระบบปฏิทินโบราณอื่นๆที่อาจมีอิทธิพลต่อผู้สร้างสโตนเฮนจ์ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เขาระบุว่าแท่งหินที่วางเรียงเป็นวงกลมจำนวน 30 แท่งที่เรียกว่า Sarsen Circle เป็นตัวแทนของเดือนที่มี 30 วัน หินแต่ละแท่งเป็นตัวแทนของแต่ละวัน คนที่สโตนเฮนจ์สามารถติดตามวันในรอบเดือนด้วยการมาร์คตำแหน่งที่แท่งหินโดยใช้หินก้อนเล็กๆหรือหมุดไม้

Darvill ยังบอกด้วยว่าในหนึ่งเดือนมี 3 สัปดาห์แต่ละสัปดาห์มี 10 วัน โดยมีหินที่มีลักษณะพิเศษเป็นตัวบอกจุดเริ่มต้นของแต่ละสัปดาห์ จากการวิเคราะห์ความกว้างแท่งหินและช่องว่างระหว่างแท่งหินดังกราฟในรูปด้านล่าง การมี 10 วันในหนึ่งสัปดาห์ไปสอดคล้องตรงกับปฏิทินของอาณาจักรของอียิปต์โบราณอียิปต์ โดยปฏิทินดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นที่ดินแดนเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และถูกปรับปรุงที่อียิปต์ก่อนจะถูกใช้อย่างแพร่หลายเมื่อ 2,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้น

อีกทั้งยังมีการค้นพบร่องรอยการเชื่อมต่อของวัฒนธรรมระหว่างดินแดนที่อยู่ห่างไกลกัน เช่น บุคคลในประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า Amesbury Archer ซึ่งเกิดในเทือกเขาแอลป์ แต่ภายหลังมาตั้งรกรากในอังกฤษและถูกฝังไว้ใกล้สโตนเฮนจ์ ผู้ที่เดินทางข้ามดินแดนอาจนำคำสอนเกี่ยวกับความซับซ้อนของการออกแบบปฏิทินสุริยคติจากเมดิเตอร์เรเนียนมายังอังกฤษ

ในแต่ละปีจะมี 12 เดือนๆละ 30 วันรวมเป็น 360 วัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีเดือนพิเศษที่มีวันเพิ่มขึ้นอีก 5 วัน Darvill บอกว่าเดือนพิเศษเหล่านั้นอาจอุทิศให้กับเทพเจ้าของสถานที่นั้น และสิ่งที่เป็นตัวแทนของ 5 วันดังกล่าวก็คือแท่งหิน Trilithon จำนวน 5 ชุดหรือ Sarsen Horseshoe ที่อยู่ตรงกลางสโตนเฮนจ์นั่นเอง นอกจากนี้ยังจะต้องมีวันอธิกสุรทินทุกสี่ปีเพื่อให้ตรงกับปีสุริยคติ Station Stone ทั้งสี่แห่งที่อยู่นอก Sarsen Circle คือเครื่องบ่งชี้หรือจุดมาร์คตำแหน่งจนถึงวันอธิกสุรทิน

“การค้นพบปฏิทินสุริยคติที่แสดงอยู่ในสถาปัตยกรรมของสโตนเฮนจ์นั้นเป็นการเปิดมุมมองใหม่ต่ออนุสรณ์สถานเก่าแก่แห่งนี้ว่าเป็นสถานที่สำหรับการใช้ชีวิต” Darvill กล่าว “เป็นสถานที่ที่เวลาของพิธีกรรมและเทศกาลเชื่อมโยงกับโครงสร้างของจักรวาลและการเคลื่อนที่ของดวงดาวบนท้องฟ้า”

 

ข้อมูลและภาพจาก dailymail, heritagedaily

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *