อันที่จริงผู้คนทั่วโลกต่างเคยชินกับการเห็นภาพอันน่าทึ่งของจักรวาลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และภาพใหม่ๆจากกล้องเจมส์ เวบบ์ก็อาจไม่ได้ดูแตกต่างไปจากเดิมมากนัก จนกระทั่งมันถูกวางไว้ข้างภาพเก่าที่มีอยู่แล้ว เมื่อนั้นแหละที่จะทำให้เห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกล้องเจมส์ เวบบ์สามารถถ่ายภาพของจักรวาลได้คมจัดจนน่าตกใจเพียงไร และต่อไปนี้คือการเปรียบเทียบผลงานภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์และกล้องฮับเบิล
Carina Nebula
นาซาเรียกโครงสร้างนี้ว่า Cosmic Cliffs เป็นขอบด้านในของ NGC 3324 หรือที่เรียกว่า Carina Nebula รังสีอุลตร้าไวโอเลตและลมดาวฤกษ์เข้มข้นจากดาวที่กำลังจะตายซึ่งอยู่เหนือด้านบนของเฟรมในภาพนี้ กำลังแกะสลักโครงสร้างเหล่านี้เข้าไปในกลุ่มเมฆฝุ่นและก๊าซที่ก่อตัวเป็นดาวฤกษ์ใหม่ ด้วยการมองเห็นแบบอินฟราเรด ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์ที่ด้านล่างเผยให้เห็นเป็นครั้งแรกว่ามีดาวฤกษ์ใหม่อายุน้อยหลายดวงกำลังส่องแสงผ่านเมฆฝุ่นมองเห็นเป็นจุดสีแดงในส่วนที่มืดที่สุดของกลุ่มเมฆ
Southern Ring Nebula
NGC 3132 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Southern Ring Nebula เป็นเมฆก๊าซที่กำลังขยายตัวพุ่งออกจากดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ภาพด้านซ้ายคือ Southern Ring Nebula จากกล้องฮับเบิลที่เผยแพร่ในปี 2541 ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์ทางด้านขวาให้ความละเอียดที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้รายละเอียดของเมฆอยู่ในโฟกัสที่คมชัด และเผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วดาวที่หรี่ลงนั้นมีอยู่จริงและปกคลุมไปด้วยเมฆฝุ่นเล็กๆของมันเอง
Stephan’s Quintet
กระจุกกาแล็กซีทั้งห้านี้เรียกว่า Stephan’s Quintet กล้องเจมส์ เวบบ์สามารถจับภาพกาแลคซีทั้งห้าแห่งได้อย่างละเอียดมากขึ้นกว่าที่เคยมีมา มีหลุมดำมวลมหาศาลที่กลืนฝุ่นและก๊าซซึ่งมองเห็นเป็นจุดสว่างในใจกลางกาแลคซีแต่ละแห่ง ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์เผยให้เห็นการไหลของก๊าซในขณะที่กาแลคซีเริ่มรวมตัว กระตุ้นการก่อตัวดาวฤกษ์ และส่งคลื่นกระแทกผ่านระบบ นี่เป็นภาพที่ใหญ่ที่สุดจากกล้องเจมส์ เวบบ์ เป็นภาพโมเสคของไฟล์เกือบ 1,000 ไฟล์ที่รวบรวมเป็นภาพที่ประกอบด้วยพิกเซลมากกว่า 150 ล้านพิกเซลและครอบคลุมพื้นที่ประมาณหนึ่งในห้าของเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงจันทร์
SMACS 0723
ภาพกระจุกกาแล็กซี SMACS 0723 เป็นภาพที่กล้องเจมส์ เวบบ์มองลึกลงไปในอวกาศและเวลาได้มากกว่าที่กล้องฮับเบิลจะทำได้ ภาพจากกล้องฮับเบิลทางด้านซ้ายแสดงดาวและกาแล็กซี่ที่เลือนลางจำนวนมาก แต่ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์ทางด้านขวานั้นสว่างไสวกว่ามาก เผยให้เห็นโครงสร้างที่ซ่อนอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแล็กซีสีแดงคือกาแล็กซีที่อยู่ไกลออกไป สาเหตุที่ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์คมชัดกว่ามากเป็นเพราะเอฟเฟกต์ของเลนส์โน้มถ่วง (Gravitational Lensing) ซึ่งมองเห็นได้จากการสาดแสงเป็นวงกลมตรงกลางเฟรม มวลของกระจุกดาวกำลังบิดเบือนโครงสร้างของกาลอวกาศด้วยแรงโน้มถ่วงมหาศาล แสงจากแหล่งอื่นทางด้านหลังจะเดินทางเป็นเส้นโค้งอ้อมผ่านกระจุกดาว กล้องเจมส์ เวบบ์สามารถใช้เอฟเฟกต์นี้เพื่อมองเข้าไปในอวกาศได้ลึกยิ่งขึ้นและย้อนเวลากลับไปได้ไกลกว่า
แน่นอนว่าภาพเหล่านี้เป็นเพียงภาพแรกๆที่ถ่ายโดยกล้องเจมส์ เวบบ์ แต่ก็ทำให้เราคาดการณ์ถึงการได้เห็นภาพอันน่าทึ่งและการค้นพบใหม่ที่น่าตื่นเต้นในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เราแทบรอไม่ไหวที่จะได้เห็นจักรวาลมากขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านสายตาอันทรงพลังของกล้องเจมส์ เวบบ์ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเวลาอีกไม่นานเกินรอ
ข้อมูลและภาพจาก nasa, newatlas