สร้างชื่อด้วยการเขียนภาพศาสนา
ฟรันซิสโก ซูร์บารัน เป็นชาวสเปน เกิดเมื่อปี 1598 ที่เมืองเล็กๆชื่อ Fuente de Cantos ทางทิศเหนือของเมืองเซบียา ปี 1614 พ่อของเขาส่งเขาไปเรียนแ ละฝึกฝนการเขียนภาพที่เมืองเซบียาเป็นเวลา 3 ปี ภายใต้การชี้แนะของ Pedro Díaz de Villanueva ที่นี่เองที่เขาได้รู้จักและคบหากับเพื่อนจิตรกรรุ่นเยาว์วัยเดียวกัน Diego Velázquez ที่ต่อมาได้กลายเป็นสุดยอดศิลปินแห่งยุคของสเปน โบสถ์ต่างๆเมืองเซบียาในช่วงเวลานั้นกำลังปรับปรุงตกแต่งอาคารใหม่ด้วยภาพทางศาสนาเป็นจำนวนมาก ซูร์บารันจึงได้เรียนรู้และฝึกฝนการเขียนภาพศาสนามาโดยตลอด แม้ว่าที่เมืองเซบียาจะมีงานรองรับมากมายแต่พอเสร็จสิ้นการฝึกเขียนภาพในปี 1617 ซูร์บารันกลับเลือกกลับไปเริ่มต้นอาชีพจิตรกรที่แถวบ้านเกิด
ราวปี 1626 ซูร์บารันเริ่มได้รับงานสำคัญชิ้นใหญ่เป็นการเขียนภาพทางศาสนา 21 ชิ้นให้กับโบสถ์ที่เมืองเซบียา งานนี้สร้างชื่อให้เขาเป็นที่รู้จักในฐานะจิตรกรฝีมือดี จากนั้นเขาก็ได้รับงานจากโบสถ์ต่างๆอย่างต่อเนื่อง จนต้องย้ายไปอยู่ประจำที่เซบียา และเพียงไม่กี่ปีเขาก็กลายเป็นจิตรกรชั้นแนวหน้าของเซบียา ในช่วงเวลานี้เขาได้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมามากมาย ที่โดดเด่นได้แก่ภาพ The Crucifixion ที่เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา รวมทั้งภาพ Saint Serapion และ The House in Nazareth ปี 1630 ซูร์บารันปฏิเสธการเข้าสอบเพื่อเป็นสมาชิกของสมาคมจิตรกรแห่งเมืองเซบียา แต่เขาก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองและงานก็ยังคงหลั่งไหลมาที่เขาโดยตลอดอันเป็นผลจากฝีมือการเขียนภาพที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง
จิตรกรของพระราชา – ราชาจิตรกร
ซูร์บารันไม่ได้มีชื่อเสียงอยู่แค่ในเมืองเซบียาเท่านั้น ความโด่งดังของเขายังขจรขจายไปถึงเมืองหลวง ปี 1630 กษัตริย์ Philip IV แห่งสเปนได้แต่งตั้งให้ซูร์บารันจิตรกรราชสำนักรับหน้าที่เขียนภาพตกแต่งห้องโถงใหญ่ของพระราชวังที่กรุงมาดริดซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Diego Velázquez เพื่อนเก่าของเขาที่เป็นจิตรกรเอกของราชสำนักสเปน ผลงานของซูร์บารันยอดเยี่ยมมากโดยเฉพาะภาพ The Defense of Cadiz Against the English กษัตริย์ Philip IV พอใจในผลงานของเขามากเดินมาวางมือบนไหล่ของเขาแล้วบอกด้วยความภูมิใจว่า “Painter to the king, king of painters” เป็นการยกย่องชื่นชมเขาอย่างสูงถึงกับยกให้เขาเป็นราชาแห่งจิตรกรเลยทีเดียว
ในช่วงทศวรรษ 1630 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองของซูร์บารัน นอกจากจะได้ทำงานสำคัญให้กับราชสำนักสเปนแล้ว เขาก็ยังได้สร้างผลงานชั้นยอดออกมาอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นภาพทางศาสนา มีผลงานที่โดดเด่นมากๆในช่วงนี้ได้แก่ภาพ Saint Francis in Meditation, Saint Luke Painting the Crucifixion และภาพ The Young Virgin เป็นต้น นอกจากนี้ซูร์บารันยังมีผลงานการเขียนภาพหุ่นนิ่ง (Still Life) ระดับสุดยอดอีกหลายภาพ รวมทั้งภาพ Lamb of God และ Still Life with Lemons, Oranges and a Rose ที่ได้รับการยกย่องมาทุกยุคทุกสมัย
เจ้าของฉายา “คาราวัจโจแห่งสเปน”
ความยอดเยี่ยมในฝีมือการเขียนภาพของซูร์บารันนอกเหนือจากความประณีตแม่นยำในลายเส้นและการลงสี ตลอดจนบุคลิกท่าทางขององค์ประกอบหลักในภาพที่สื่อความหมายได้ดีเยี่ยมแล้ว สิ่งที่โดดเด่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาคือการใช้เทคนิคแสงและเงา โดยเฉพาะลักษณะการเขียนที่เรียกว่าภาพสว่างในความมืด (Tenebrism) และการใช้เทคนิคค่าต่างแสง (Chiaroscuro) ทำให้ภาพของซูร์บารันมีความพิเศษที่แตกต่างจากศิลปินอื่น เขาเขียนภาพในสไตล์นี้มาตั้งแต่เริ่มต้นและยังคงยึดแนวทางนี้ไปตลอดชีวิต ภาพศาสนาของซูร์บารันส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาพนักบุญเขานิยมใช้เทคนิคนี้เพิ่มความโดดเด่นให้กับภาพ แม้กระทั่งภาพหุ่นนิ่งอย่างเช่นภาพ Still Life with Lemons, Oranges and a Rose ก็ใช้เทคนิคนี้เช่นเดียวกัน
สไตล์การเขียนภาพโดยใช้เทคนิคแสงและเงาของซูร์บารันมีลักษณะคล้ายคลึงใกล้เคียงกับงานของคาราวัจโจ (Caravaggio) สุดยอดศิลปินยุคบาโรกชาวอิตาลีซึ่งถือเป็นต้นแบบของการเขียนภาพในสไตล์นี้ คาราวัจโจมีชีวิตและโด่งดังมาก่อนซูร์บารันหลายทศวรรษ ช่วงที่ซูร์บารันเริ่มจะโด่งดังนั้นคาราวัจโจได้เสียชีวิตไปแล้วราว 20 ปี ไม่รู้ว่าซูร์บารันมีโอกาสได้เห็นผลงานของคาราวัจโจหรือไม่ แต่ด้วยสไตล์ของผลงานที่คล้ายกันมากหลายคนจึงเชื่อว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากคาราวัจโจ แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนเชื่อว่าเขาได้รับอิทธิพลจาก Juan Sánchez Cotán จิตรกรดังอีกคนหนึ่งของสเปน อย่างไรก็ตามด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยมในสไตล์ที่คล้ายกันซูร์บารันจึงได้รับฉายาว่า “คาราวัจโจแห่งสเปน”
คลื่นระลอกหลังไล่คลื่นระลอกแรก
ซูร์บารันครองความยิ่งใหญ่ในฐานะจิตรกรชั้นนำของสเปนมาจนถึงปลายทศวรรษ 1630 ชื่อเสียงของเขาเริ่มเสื่อมถอยลง อันเนื่องมาจากความนิยมในสไตล์การเขียนภาพในลักษณะเคร่งครัด ดุดัน เฉียบขาดแบบของเขาเริ่มถูกบดบังโดยสไตล์การเขียนภาพที่นุ่มนวลลึกซึ้งที่เข้ามาแทนที่ ประกอบกับเริ่มปรากฎศิลปินรุ่นใหม่ของสเปนหลายคนที่โดดเด่นขึ้นมาด้วยสไตล์ที่แตกต่าง โดยเฉพาะดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง Bartolomé Esteban Murillo ทำให้ซูร์บารันเริ่มประสบปัญหาในอาชีพ เขาได้รับงานน้อยลง ภาพเขียนของเขาเริ่มขายไม่ค่อยได้ ซูร์บารันจำต้องปรับตัวหาตลาดใหม่ด้วยการส่งออกภาพเขียนของเขาไปขายที่อเมริกาใต้ โดยความช่วยเหลือของ Juan de Zurbarán ลูกชายของเขาที่เป็นจิตรกรเหมือนกัน แต่นั่นก็แค่การประคองตัวให้อยู่รอดเท่านั้น เพราะช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเขาได้ผ่านไปแล้ว
แม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพอย่างมากแต่ชีวิตส่วนตัวของซูร์บารันกลับต้องพบเจอกับความสูญเสียบ่อยมาก เขาแต่งงานครั้งแรกในปี 1617 กับ María Paet ที่แก่กว่าเขา 9 ปี มีลูกด้วยกัน 3 คน แต่เธอมาเสียชีวิต 6 ปีหลังแต่งงาน ซูร์บารันแต่งงานครั้งที่สองกับแม่หม้ายที่อายุมากกว่าเขา Beatriz de Morales ในปี 1625 แต่เธอก็มาเสียชีวิตในปี 1639 ซูร์บารันแต่งงานอีกครั้งในปี 1644 คราวนี้เขาแต่งกับ Leonor de Tordera แม่หม้ายที่อายุน้อยกว่าเขา 18 ปี แต่ในปี 1649 เขาต้องสะเทือนใจอย่างหนักเมื่อ Juan ลูกชายคนโปรดต้องมาเสียชีวิตไปด้วยโรคระบาด ชีวิตส่วนตัวของเขาจึงเหมือนเป็นคนอาภัพมีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสูญเสียวนเวียนหลายครั้งหลายครา
ปี 1658 ซูร์บารันย้ายไปอยู่ที่กรุงมาดริดอีกครั้งเพื่อโอกาสในการได้รับงานมากขึ้น เขากลับคืนสู่สังคมศิลปินชั้นนำในเมืองหลวงและได้ติดต่อกับเพื่อนเก่าอย่าง Diego Velázquez อีกครั้ง ที่กรุงมาดริดซูร์บารันได้รับงานมากพอควร แต่ก็ยังไม่อาจทำให้เขาฟื้นฟูชื่อเสียงให้กลับไปเป็นเหมือนยุครุ่งเรืองได้อีก แม้ชื่อเสียงจะตกต่ำลงแต่ฝีมือและผลงานซูร์บารันมิได้ต่ำลงตามไปด้วย เขายังคงสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาอีกมากมาย เช่น ภาพ St. Francis, Still Life with Pots และ Saint Francis Kneeling with a Skull เป็นต้น สุขภาพของซูร์บารันเริ่มแย่ลงจนต้องหยุดเขียนภาพในปี 1662 และได้เสียชีวิตที่กรุงมาดริดในปี 1664 ในวัย 65 ปี
ผลงานยอดเยี่ยมของศิลปินผู้อาภัพ
ซูร์บารันสร้างชื่อด้วยภาพเขียนทางศาสนา เขามีผลงานที่งดงามและยอดเยี่ยมมากโดยเฉพาะภาพนักบุญทั้งชายและหญิง และยังมีผลงานภาพเขียนหุ่นนิ่งชั้นยอดอีกมากมาย ภาพเขียนของซูร์บารันโดดเด่นด้วยเทคนิคการใช้ความแตกต่างของแสงและเงาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขา และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานที่ยอดเยี่ยมของศิลปินผู้อาภัพคนนี้
Early Works (1626 – 1630)
Flourishing Period (1630 -1640)
Later Years (1640 – 1664)
ในช่วงยุคทองของสเปน (Spain’s Golden Age) เป็นที่ยอมรับว่า Diego Velázquez คือจิตรกรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่นักวิชาการหลายคนเห็นว่าตัวแทนแห่งยุคที่แท้จริงน่าจะเป็นฟรันซิสโก ซูร์บารันมากกว่า เนื่องจากว่า Velázquez นั้นทำงานเฉพาะที่ราชสำนักในกรุงมาดริด ในขณะที่ซูร์บารานสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมทางศาสนาให้กับหลากหลายสถานที่อย่างสม่ำเสมอในแผ่นดินใหญ่ของสเปน จิตรกรยุคบาโรกเจ้าของฉายา “คาราวัจโจแห่งสเปน” จึงอยู่ในจิตใจของผู้คนเสมอมาถึงปัจจุบัน
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, theartstory, yourdictionary