ในบรรดายีนกระโดดทั้งหลายของมนุษย์มีกลุ่มพิเศษอยู่กลุ่มหนึ่งเรียกว่า LINE (Long Interspersed Nuclear Elements) ซึ่งพบในจีโนมนุษย์จำนวนหลายร้อยชุด เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีการค้นพบหลักฐานว่ายีนกระโดดตระกูล LINE นี้ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของสมอง นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่ายีนกระโดด LINE มีสัมพันธ์กับความสามารถทางปัญญา เช่น การเรียนรู้และความจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกมันทำงานอยู่ในฮิบโปแคมปัสซึ่งเป็นโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของสมองสำหรับการควบคุมระบบประสาทของกระบวนการเรียนรู้
ในการจัดลำดับจีโนมของหมึกยักษ์เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยพบยีนกระโดดในหมึกยักษ์สองสายพันธ์ุได้แก่สายพันธ์ุทั่วไป (Octopus vulgaris) กับสายพันธุ์แคลิฟอร์เนียสองจุด (Octopus bimaculoides ) ที่สำคัญเป็นยีนกระโดดตระกูล LINE และยังทำงานอยู่ที่สมองของหมึกยักษ์ส่วนที่เป็นกลีบแนวตั้งซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ (คล้ายกับฮิบโปแคมปัสในสมองมนุษย์)
“การค้นพบยีนกระโดดตระกูล LINE ที่ทำงานอยู่ในสมองของหมึกยักษ์ทั้งสองสายพันธุ์มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นเพิ่มการสนับสนุนให้กับแนวคิดที่ว่ายีนกระโดดเหล่านี้มีหน้าที่เฉพาะที่นอกเหนือไปจากการย้ายตำแหน่ง” Remo Sanges หนึ่งในทีวิจัยกล่าว
“ฉันตกใจมากเมื่อมองในกล้องจุลทรรศน์แล้วเห็นสัญญาณที่ชัดเจนมากของการทำงานของยีนกระโดดเหล่านี้ในกลีบแนวตั้งซึ่งเป็นโครงสร้างของสมองในปลาหมึกที่เป็นแหล่งของการเรียนรู้และความสามารถทางปัญญาเช่นเดียวกับฮิปโปแคมปัสในมนุษย์” Giovanna Ponte ทีมวิจัยอีกคนกล่าว
ทีมวิจัยยังบอกอีกว่าความคล้ายคลึงระหว่างมนุษย์กับหมึกยักษ์ที่มียีนกระโดดตระกูล LINE ทำงานอยู่ในสมองตรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางปัญญาเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการวิวัฒนาการ เนื่องจากมนุษย์กับหมึกยักษ์เป็นสายพันธุ์ที่ห่างไกลกันมาก แต่กระบวนการระดับโมเลกุลแบบเดียวกันจะพัฒนาอย่างอิสระเพื่อตอบสนองความต้องการที่คล้ายคลึงกัน และยีนกระโดดตระกูล LINE เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากในการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ของเราเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสติปัญญา
ข้อมูลและภาพจาก sciencedaily, scitechdaily