10 เรื่องน่าทึ่งของ “ผึ้ง” สัตว์ตัวเล็กๆแต่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อโลกมนุษย์

ผึ้งเป็นสัตว์สังคมทำรังอยู่รวมกันเป็นฝูง แม้ผึ้งจะเป็นสัตว์ตัวเล็กๆแต่กลับมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างมาก มิเพียงน้ำผึ้งที่เป็นอาหารทรงคุณค่าของมนุษย์และสัตว์บางชนิด ที่สำคัญคือผึ้งเป็นผู้ทำหน้าที่ผสมเกสรของพืชส่วนใหญ่บนโลก หากปราศจากผึ้งมาทำหน้าที่สำคัญนี้ คงมิอาจประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อพืช สัตว์ และมนุษย์ว่าจะมีมากมายมหาศาลขนาดไหน บางคนอ้างว่านักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าผึ้งหายไปจากโลก มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินสี่ปี ไม่มีผึ้ง, ไม่มีการผสมเกสร, ไม่มีพืช, ไม่มีสัตว์, ไม่มีมนุษย์อีกต่อไป” อันสะท้อนถึงอิทธิพลยิ่งใหญ่ของผึ้งที่มีต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก

ผึ้งดูเหมือนเป็นแมลงบินได้ธรรมดา แต่จริงๆแล้วชีวิตและพฤติกรรมของผึ้งมีความพิเศษและแปลกประหลาดอย่างคาดไม่ถึง การดำเนินชีวิตและดำรงอาณานิคมของผึ้งมีแบบแผนและระบบที่ซับซ้อน โดยเฉพาะความสามารถพิเศษหลายอย่างของผึ้งแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ และต่อไปนี้คือ 10 เรื่องน่าทึ่งของ “ผึ้ง” สัตว์ตัวเล็กๆแต่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อโลกมนุษย์

 
1. ผึ้งนางพญาผสมพันธุ์แค่ครั้งเดียว

รังผึ้งเป็นอาณานิคมเล็กๆแต่มีประชากรผึ้งมากถึงราว 50,000 ตัว ประกอบด้วยผึ้งนางพญา (Queen) 1 ตัว ผึ้งตัวผู้ (Drone) อีกหลายร้อยตัว ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นผึ้งตัวเมียหรือผึ้งงาน (Worker) ผึ้งนางพญาที่มีขนาดใหญ่กว่าผึ้งทุกตัวในรังเป็นหัวหน้าหรือผู้ปกครอง ผึ้งนางพญาจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าฟีโรโมนเพื่อควบคุมให้ผึ้งทุกตัวในรังทำหน้าที่ไปตามปกติ เมื่อผึ้งนางพญาโตเต็มที่มันจะบินออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้บนอากาศต่อเนื่องราว 10 – 20 ตัว พร้อมกับเก็บสเปิร์มไว้นับล้านเซลล์จากการผสมพันธุ์คราวเดียวนี้เพื่อใช้ไปตลอดชีวิต หลังการผสมพันธุ์ไม่กี่วันผึ้งนางพญาก็จะเริ่มทำหน้าที่หลักของมันคือวางไข่ ผึ้งนางพญาสามารถวางไข่ได้มากถึง 2,000 ฟองต่อวัน ตลอดช่วงชีวิตราว 5 ปีผึ้งนางพญาสามารถวางไข่ได้ถึง 800,000 ฟอง ถ้าผึ้งนางพญาตายไปผึ้งตัวเมียจะสร้างผึ้งนางพญาตัวใหม่โดยเลือกตัวอ่อนตัวหนึ่งแล้วให้อาหารพิเศษคือนมผึ้ง (Royal Jelly) เพื่อให้พัฒนาเป็นผึ้งนางพญาต่อไป

 
2. ลูกไม่มีพ่อมีชีวิตเพื่อผสมพันธุ์

ผึ้งนางพญาจะกำหนดเพศของลูกผึ้งโดยการวางไข่ที่ผสมกับสเปิร์มหรือวางไข่ที่ไม่ได้ผสมกับสเปิร์ม ไข่ที่ผสมกับสเปิร์มจะเป็นผึ้งตัวเมีย ส่วนไข่ที่ไม่ได้ผสมกับสเปิร์มจะเป็นผึ้งตัวผู้ ดังนั้นผึ้งตัวผู้จึงเป็นลูกไม่มีพ่ออย่างแท้จริง พวกมันมีขนาดเล็กกว่าผึ้งนางพญาแต่โตกว่าผึ้งตัวเมีย ผึ้งตัวผู้ไม่มีหน้าที่อื่นใดเลยนอกจากผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียว พวกมันจะรออยู่ในรังจนกว่าผึ้งนางพญาจะพร้อมและบินตามผึ้งนางพญาออกไปผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์เสร็จพวกมันก็ตกลงมาตาย ส่วนตัวที่ไม่มีโอกาสได้ผสมพันธุ์ก็จะบินกลับรังเพื่อรอโอกาสครั้งต่อไป เมื่อเข้าฤดูหนาวซึ่งหมดฤดูผสมพันธุ์แล้วผึ้งตัวผู้ก็จะหมดคุณค่าและถูกทอดทิ้ง โดยผึ้งตัวเมียจะไม่ให้อาหารและปล่อยให้มันอดตายจนหมด เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ผึ้งนางพญาค่อยวางไข่พวกมันใหม่

 
3. ตัวเมียทำงานหนักและอายุสั้น

ผึ้งตัวเมียมีขนาดเล็กที่สุดแต่มีจำนวนมากที่สุดถึงราว 98% ของผึ้งทั้งหมดในรัง พวกมันได้ชื่อว่าผึ้งงานเพราะต้องทำหน้าที่แทบทุกอย่างนอกจากการวางไข่เท่านั้น ผึ้งตัวเมียแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มทำหน้าที่แตกต่างกันไป ได้แก่ สร้างรัง หาอาหาร (น้ำหวานและละอองเกสรจากดอกไม้) จัดเก็บอาหารในรัง ให้อาหารตัวอ่อน ทำความสะอาดรัง เอาผึ้งและตัวอ่อนที่ตายไปทิ้ง เฝ้ายามป้องกันผู้บุกรุก ฯลฯ งานที่หนักที่สุดของผึ้งตัวเมียเห็นจะได้แก่การหาอาหาร พวกมันจะต้องสะสมอาหารไว้ที่รังให้มากพอสำหรับสมาชิกทุกตัวในรังตลอดฤดูหนาว ผึ้งมีกระเพาะพิเศษสำหรับเก็บน้ำหวานที่มันดูดจากดอกไม้ได้ราวหนึ่งในสามของน้ำหนักตัวมันเอง และยังมีตะกร้าเกสรที่ขาหลังสำหรับเก็บละอองเกสรอีกด้วย แต่ผึ้งตัวเมียมีอายุสั้นแค่ราว 6 – 8 สัปดาห์เท่านั้น

 
4. นักบินที่รวดเร็วและแสนทรหด

ผึ้งเป็นนักบินที่รวดเร็วทีเดียว มันมีปีก 2 คู่กระพือด้วยความเร็ว 120 ครั้งต่อวินาที ผึ้งบินด้วยความเร็วราว 25 กม./ชม. แต่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือผึ้งเป็นนักบินที่ทรหดอดทนสามารถบินเป็นระยะทางไกลมาก ในแต่ละเที่ยวบินผึ้งสามารถไปเยี่ยมดอกไม้ 200 – 300 ดอก และเก็บน้ำหวานได้ 0.05 กรัม วันหนึ่งมันสามารถไปเยี่ยมดอกไม้ได้ถึง 2,000 ดอก และเก็บน้ำหวานได้ 0.5 กรัม ในการผลิตน้ำผึ้ง 1 ปอนด์ (2.2 กก.) ผึ้งต้องบินเป็นระยะทางรวมกันประมาณ 90,000 กม. หรือมากกว่าการบินรอบโลก 2 รอบ และในปีหนึ่งผึ้งรังหนึ่งจะต้องผลิตน้ำผึ้งราว 10 ปอนด์ ซึ่งหมายถึงพวกมันต้องบินเป็นระยะทางมากกว่าการบินรอบโลก 20 รอบ

 
5. สายตาและรับกลิ่นยอดเยี่ยมมาก

ผึ้งมีดวงตา 5 ดวง ส่วนใหญ่เราจะเห็นแค่ตาซ้ายขวา 2 ดวง แต่พวกมันยังมีตาเล็กๆอยู่ตรงกลางอีก 3 ดวง ผึ้งสามารถเห็นแสงสองประเภทที่มนุษย์มองไม่เห็นคือแสงโพลาไรซ์และแสงอุลตร้าไวโอเล็ต การที่สามารถมองเห็นแสงโพลาไรซ์ทำให้พวกมันสามารถตรวจจับตำแหน่งดวงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา แม้แต่ในขณะที่มีเมฆมาก พวกมันจึงใช้แสงโพลาไรซ์นี้เป็นระบบนำทาง นอกจากจะมีสายตาที่ยอดเยี่ยมแล้วผึ้งยังมีความสามารถในการรับกลิ่นได้ดีเยี่ยมอีกด้วย ผึ้งใช้หนวดของมันในการตรวจจับกลิ่น หนวดของผึ้งมีตัวรับกลิ่นมากถึง 170 ตัว ผึ้งใช้ความสามารถส่วนนี้ของพวกมันในการสื่อสารกันภายในรังและใช้แยกแยะดอกไม้ประเภทต่างๆเมื่อมองหาอาหาร

 
6. สมองเล็กจิ๋วแต่ฉลาดเกินแมลง

สมองของผึ้งเล็กมากมีขนาดเท่าเมล็ดงาเท่านั้น แต่พวกมันกลับฉลาดอย่างน่าประหลาดใจ ผึ้งสามารถเรียนรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี ผึ้งไม่เพียงจำหน้าคนได้ (โดยเฉพาะคนที่เผารังพวกมัน) พวกมันยังสามารถแยกแยะผึ้งที่อยู่คนละรังกับพวกมันได้ด้วย นักวิจัยพบว่าผึ้งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดมาก สามารถฝึกให้พวกมันนับเลข จดจำใบหน้าของคนได้ ที่น่าสนใจมากคือผึ้งสามารถเรียนรู้ที่จะเล่นเกมฟุตบอลได้ด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ฝึกฝนพวกมันให้ยิงประตู หากทำสำเร็จจะได้รับน้ำตาลเป็นของรางวัล และเหลือเชื่อมากที่มันทำได้สำเร็จเสียด้วย ที่สำคัญมันยังสอนผึ้งตัวอื่นทำแบบเดียวกันได้ด้วย

 
7. สื่อสารถึงกันด้วยการเต้นระบำ

ผึ้งมีการสื่อสารบอกข้อมูลข่าวสารถึงกันด้วยลักษณะท่าทางการเต้นระบำที่เรียกว่า “Waggle dance” เมื่อผึ้งไปพบแหล่งอาหารมันจะกลับมาบอกพรรคพวกของมันภายในรัง ถ้าแหล่งอาหารอยู่ใกล้ๆรังในระยะไม่เกิน 40 เมตรมันจะเดินเป็นวงกลม แต่ถ้าไกลกว่านั้นมันจะเดินเป็นรูปคล้ายเลข 8 คือมีลักษณะคล้ายเป็นวงกลมสองวงต่อกัน เส้นรอยต่อระหว่างวงกลมสองวงนี้จะเป็นการบอกทิศทางของแหล่งอาหารเทียบกับดวงอาทิตย์ ความยาวของเส้นรอยต่อจะบอกถึงระยะห่างจากรังโดยประมาณ ส่วนความหนาแน่นหรือคุณภาพของแหล่งอาหารผึ้งจะแสดงผ่านความคึกคักกระตือรือร้นขณะเต้นรำบำ นอกจากนี้ผึ้งยังมีการสื่อสารกับเพื่อนด้วยการแสดงท่าทางอีกหลายอย่าง เช่น ให้ช่วยทำความสะอาด เตือนถึงอันตราย หรือกระตุ้นให้ย้ายรัง เป็นต้น

 
8. พิษสงร้ายกาจต่อสู้แบบพลีชีพ

ผึ้งจะปกป้องและตอบโต้ผู้บุกรุกรังของพวกมันอย่างห้าวหาญ ไม่ว่าจะเป็นพวกผึ้งด้วยกันแต่อยู่คนละรังที่แอบมาขโมยน้ำหวาน หรือมนุษย์และสัตว์อื่นที่อาจหาญมาเอารังของมันไปกิน บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินเรื่องเล่าหรือข่าวคนถูกผึ้งต่อยจนตายเพราะไปเผารังของพวกมัน ขนาดหนีลงดำน้ำพวกมันยังคงวนเวียนรอต่อยเวลาโผล่ขึ้นจากน้ำ แถมยังจำหน้าคนเผารังของพวกมันได้ดี แก้แค้นไม่ผิดตัว อาวุธสำคัญของผึ้งคือเหล็กในซึ่งอยู่ที่ก้นของมัน เฉพาะผึ้งตัวเมียเท่านั้นที่มีเหล็กใน ส่วนตัวผู้แค่อยู่ในรังรอผสมพันธุ์จึงไม่ต้องติดอาวุธ แต่หลังจากที่ผึ้งต่อยเราแล้วส่วนใหญ่มันจะตาย เนื่องจากปลายเหล็กในเป็นเงี่ยงหลายหยักฝังแน่นมาก เมื่อมันพยายามดึงเหล็กในออก อวัยวะภายในของมันจะหลุดติดคาอยู่กับเหล็กใน ตัวมันก็จะตายในที่สุด ผึ้งจึงไม่เพียงมีพิษสงร้ายกาจ แต่ยังต่อสู้แบบพลีชีพอีกด้วย

 
9. มีระบบปรับอุณหภูมิภายในรัง

ผึ้งเป็นสัตว์เลือดเย็นพวกมันจึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิภายในรังให้คงที่ราว 34 – 35°C ตลอดทั้งปี เพื่อให้ผึ้งนางพญาและพวกมันเองอยู่รอดตลอดฤดูหนาว และให้รังมีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในฤดูใบไม้ผลิ ในสภาพอากาศหนาวเย็นผึ้งจะรักษารังให้อบอุ่นด้วยการรวมตัวกันเพื่อสร้างความร้อนในร่างกายและปิดผนึกรูรั่วรอยร้าวของรังด้วยยางไม้ที่เรียกว่า Propolis ในสภาพอากาศที่อบอุ่นผึ้งจะไปเอาน้ำมาวางไว้รอบปากทางเข้ารัง แล้วช่วยกันกระพือปีกเป็นพัดลมเพื่อให้น้ำระเหยเข้าสู่อากาศ จากนั้นจะกระพือปีกพัดลมเย็นให้เข้าไปหมุนเวียนรอบๆรังคล้ายกับเครื่องปรับอากาศ

 
10. ทำงานเป็นทีมได้ดีเหลือเชื่อ

ผึ้งเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่สามารถทำงานเป็นทีมได้ดีอย่างน่าทึ่ง พวกมันมีการแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ผึ้งนางพญามีหน้าที่วางไข่ ผึ้งตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์ ผึ้งตัวเมียแบ่งออกเป็นหลายทีมทำหน้าที่ต่างๆที่เหลือ เช่น สร้างรัง ทำความสะอาด หาอาหาร เฝ้ายาม เป็นต้น และแต่ละตัวยังอาจเปลี่ยนหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม นอกจากการร่วมมือกันทำหน้าที่แต่ละอย่างแบบนี้แล้ว ด้วยความฉลาดในการคิดแก้ปัญหาผึ้งยังสามารถร่วมมือกันทำในสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ อย่างเช่นการเปิดฝาเกลียวขวดน้ำอัดลม ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อแต่เรื่องนี้มีหลักฐาน วิดีโอด้านล่างเผยให้เป็นผึ้งสองตัวกำลังช่วยกันหมุนเปิดฝาขวดจนสำเร็จ

 

ข้อมูลและภาพจาก bigislandbees, sciencelearn, mentalfloss

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *