เด็กศิลป์หัวก้าวหน้าย่านมงต์มาตร์
ปอล ซีญัก เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี 1863 ที่กรุงปารีส ครอบครัวเป็นชนชั้นกลางมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ตอนซีญักยังเล็กมากครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่ย่านมงต์มาตร์ พ่อเปิดร้านขายอานม้าและเครื่องบังเหียน เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ที่ชั้นบนของร้าน ซีญักเกิดและเติบโตในช่วงที่ศิลปะสมัยใหม่กำลังเริ่มพัฒนาขึ้นพอดี และย่านมงต์มาตร์ก็เป็นแหล่งรวมของพวกศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าทั้งหลาย เขาจึงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของศิลปะแนวใหม่ที่กำลังเริ่มมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะ อีกทั้งพ่อแม่ของเขายังมีแนวคิดเสรีนิยมและสนับสนุนลูกชายได้ดื่มด่ำกับชุมชนศิลปะที่พวกเขาอาศัยอยู่ และให้เขาเข้าชมนิทรรศการศิลปะต่างๆมากมาย รวมทั้งนิทรรศการของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ ซีญักซึมซับและชื่นชอบศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลงานของ Claude Monet
ตอนอายุ 16 ปีซีญักได้เข้าชมนิทรรศการอิมเพรสชั่นนิสม์ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในปี 1880 ขณะที่เขากำลังสเก็ตช์ภาพคัดลอกผลงานของ Edgar Degas ที่จัดแสดงอยู่นั้น Paul Gauguin ได้เข้ามาต่อว่าและพูดกับเขาว่า “ที่นี่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้!” และไล่เขาออกไปจากนิทรรศการ หลังจากนั้นไม่นานซีญักตัดสินใจที่จะเป็นจิตรกรอาชีพด้วยความหลงใหลในศิลปะแนวใหม่นี้ ปีเดียวกันนั่นเองพ่อของซีญักเสียชีวิต แม่ของเขาขายธุรกิจของครอบครัวแล้วย้ายไปอยู่ที่ Asnières ชานเมืองแห่งใหม่ของกรุงปารีส ซีญักไม่ชอบบ้านใหม่จึงเช่าบ้านอยู่ที่ยานมงต์มาตร์ เขาเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านเช่ากับบ้านแม่เพื่อที่จะได้วนเวียนในแวดวงชุมชนศิลปะแนวใหม่กับใช้สถานที่แถวบ้านแม่เป็นทำเลเขียนภาพของตัวเอง ผลงานในช่วงแรกจึงมักเป็นภาพทิวทัศน์ของสถานที่ในกรุงปารีสหรือไม่ก็แถวบ้านแม่ เช่น ภาพ Paris, Ponton des Bains Bailet และ Railway junction near Bois-Colombes
คู่หูร่วมสร้างเทคนิคเขียนภาพแบบใหม่
ซีญักฝึกฝนและพัฒนาฝีมือการเขียนภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์จนเข้าขั้นจิตรกรอาชีพ แต่เขาก็เหมือนกับศิลปินหัวก้าวหน้ารุ่นพี่ที่ไม่ได้รับโอกาสจากคณะกรรมการพิจารณาผลงานของ Paris Salon นิทรรศการศิลปะประจำปีของประเทศซึ่งเป็นเหมือนบันไดให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้ก้าวสู่ความมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในอาชีพ ในปี 1884 ซีญักและเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมศิลปินอิสระ Salon des Indépendants ขึ้นมาเพื่อจัดนิทรรศการศิลปะที่ศิลปินสามารถนำเสนอผลงานได้อย่างอิสระไม่มีคณะกรรมพิจารณาผลงาน โดยได้จัดนิทรรศการครั้งแรกในปีเดียวกันนั่นเอง มีศิลปินเข้าร่วมมากกว่า 400 คนและมีผลงานเข้าร่วมแสดงกว่า 5,000 ชิ้น และในช่วงนี้เองที่สไตล์การเขียนภาพของซีญักได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อเขาได้พบกับ Georges Seurat
ซีญักชื่นชอบเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่ที่เรียกว่าเทคนิคผสานจุดสี (Pointillism) ซึ่ง Seurat ได้คิดค้นขึ้นมาโดยการเขียนจุดสีเล็กๆสีต่างๆอยู่ติดๆกันลงบนภาพแทนการผสมสีต่างๆในจานสี เพื่อให้เกิดการผสมผสานของสีขึ้นในสายตาของผู้ชม ทั้งซีญักและ Seurat ต่างชื่นชอบในทฤษฎีสมัยใหม่เกี่ยวกับทัศนศาสตร์และสี ทั้งคู่จึงกลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็วและช่วยกันพัฒนาเทคนิคผสานจุดสีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ตั้งแต่ราวปี 1886 ซีญักได้ละทิ้งการเขียนภาพในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์แบบเดิมเปลี่ยนมาใช้เทคนิคผสานจุดสีอย่างเต็มตัว เขาได้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมด้วยเทคนิคนี้ในระยะแรกมากมาย เช่น ภาพ The Dining Room, Les Andelys, Comblat Castle, The Pre และ Snow, Boulevard de Clichy, Paris เป็นต้น
ร่วมสร้างสรรค์ศิลปะลัทธิประทับใจใหม่
ซีญักและ Seurat ได้พัฒนาสไตล์การเขียนภาพด้วยเทคนิคผสานจุดสีจนมีผลงานโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์แบบเดิมอย่างชัดเจน Félix Fénéon นักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสได้เรียกสไตล์การเขียนภาพแบบใหม่นี้ว่า “ลัทธิประทับใจใหม่” (Neo-Impressionism) ซีญักได้เขียนภาพเหมือนของนักวิจารณ์ศิลปะคนนี้ในภาพชื่อ Portrait of M. Félix Fénéon in 1890 ด้วยสไตล์และการใช้สีที่โดดเด่นมาก ผลงานนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขา มีส่วนขับเคลื่อนลัทธิประทับใจใหม่ให้เป็นที่นิยมควบคู่กับผลงานชิ้นเอกของ Seurat ในปีเดียวกันซีญักยังได้สร้างผลงานชิ้นเยี่ยมที่ได้รับการยกย่องมากอีกชิ้นหนึ่งคือภาพ Sunday
นอกจาก Seurat แล้วซีญักยังมีเพื่อนร่วมวงการลัทธิประทับใจใหม่อีกหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Camille Pissarro พี่ใหญ่ของกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์ ด้วยเหตุที่ Pissarro เป็นศิลปินที่ชอบทดลองค้นคว้าหาแนวการเขียนภาพใหม่ และเขาก็สนใจในเทคนิคผสานจุดสีจึงได้เข้ามาค้นคว้าและพัฒนาร่วมกันซีญักและ Seurat นานหลายปี พร้อมกับมีผลงานที่ยอดเยี่ยมในสไตล์นี้จำนวนไม่น้อย เพื่อนในวงการอีกคนหนึ่งของซีญักคือ Vincent van Gogh พวกเขาได้พบกันตอนที่ van Gogh มาอยู่ที่กรุงปารีสในช่วงปี 1886 และซีญักยังตามไปเยี่ยม van Gogh ที่เมืองอาร์ลอีกด้วย ทั้งสองออกไปเขียนภาพกลางแจ้งด้วยกันเป็นประจำและให้การยกย่องในฝีมือของกันและกัน ซีญักยังได้สอนวิธีเขียนภาพด้วยเทคนิคผสานจุดสีให้กับ van Gogh และเพื่อนก็ไม่ได้สร้างความผิดหวังกับเขา เพราะ van Gogh ได้เขียนภาพที่ยอดเยี่ยมงดงามด้วยเทคนิคนี้ไว้หลายภาพ แต่ทั้ง Pissarro และ van Gogh ไม่ได้สานต่อเทคนิคเทคนิคผสานจุดสี เพราะพวกเขาต่างมีสไตล์ของตัวเอง
เดินหน้าพัฒนาต่อไปแม้ไร้เพื่อนคู่หู
ปี 1891 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน Seurat เป็นโรคติดเชื้อและมีภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 31 ปีเท่านั้น ทำให้ซีญักต้องขาดเพื่อนคู่หูและแทบจะต้องเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานในสไตล์ลัทธิประทับใจใหม่เพียงลำพัง นับตั้งแต่เพื่อนซี้จากเขาไปแล้วดูเหมือนว่าภาพเขียนของซีญักค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ใช้โทนสีนุ่มนวลอ่อนโยนเขาเริ่มเปลี่ยนไปใช้สีที่เข้มขึ้นสว่างสดใสมากยิ่งขึ้น ผลงานที่โดดเด่นในช่วงนี้นอกจากผลงานชิ้นเอกอย่างภาพ Portrait of M. Félix Fénéon in 1890 แล้ว ยังมีผลงานอื่นอีกมากมายที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน อย่างเช่นภาพ Women at the Well, Woman with a Parasol, Mill of Edam และ Saint-Tropez, the Port at Sunset เป็นต้น นอกจากนี้เขายังได้เขียนภาพสะท้อนความคิดทางการเมืองสนับสนุนแนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) ในภาพชื่อ In the Time of Anarchy ซึ่งภายหลังถูกกดดันให้เป็นชื่อเป็น In the Time of Harmony
ปี 1892 ซีญักแต่งงานกับ Berthe Roblès ที่กรุงปารีส ปีเดียวกันนั้นซีญักที่ชอบการแล่นเรือใบเป็นชีวิตจิตใจได้เริ่มต้นล่องเรือใบเดินทางชมทิวทัศน์ท้องทะเล แวะจอดที่ท่าเรือแทบทุกแห่งของฝรั่งเศส เขาเคยแล่นเรือต่อไปที่เนเธอร์แลนด์ ไปไกลถึงเมืองคอนสแตนติโนเปิลของตุรกีเลยทีเดียว โดยเขาใช้เมือง Saint-Tropez ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเป็นฐานสำหรับจอดเรือ แต่ละที่ที่เขาผ่านไปซีญักได้สเก็ตช์ภาพความทรงจำที่น่าประทับใจเอาไว้ บางครั้งก็เขียนภาพด้วยสีน้ำ ปี 1897 ซีญักย้ายครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่เมือง Saint-Tropez เขาซื้อบ้านและสร้างสตูดิโอขนาดใหญ่ และที่นี่เขาได้สร้างผลงานภาพเขียนในสไตล์ลัทธิประทับใจใหม่จากภาพสเก็ตช์และความทรงจำของสถานที่ต่างๆที่เขาได้ไปสัมผัสมาตลอดช่วงสามทศวรรษต่อมา
ศิลปินผู้สร้างสรรค์ส่งเสริมศิลปะใหม่
ศิลปะลัทธิประทับใจใหม่ได้รับความนิยมและเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ Henri Matisse เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบและได้แรงบันดาลใจจากลัทธิประทับใจใหม่ โดยเฉพาะแนวทางของซีญัก เขากับซีญักได้เขียนภาพด้วยกันที่เมือง Saint-Tropez ต่อมาเขาได้พัฒนาจนกลายเป็นศิลปะแบบโฟวิสม์ (Fauvism) ซีญักให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่โดยเป็นคนแรกที่ซื้อภาพเขียนในสไตล์ใหม่ของ Matisse นอกจากนี้เขายังเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของการจัดนิทรรศการของสมาคมศิลปินอิสระ Salon des Indépendants อย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมศิลปินอิสระตั้งแต่ปี 1908 จนกระทั่งเสียชีวิต เขาได้ส่งเสริมศิลปินรุ่นเยาว์ให้มีโอกาสได้จัดแสดงผลงานแนวใหม่ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับทั้งศิลปะแบบโฟวิสม์และบาศกนิยม (Cubism)
ทางด้านผลงานของตัวเองนั้นซีญักยังคงสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด โดยเฉพาะการถ่ายทอดความสวยงามของสถานที่ที่เขาไปเยี่ยมชมโดยการล่องเรือใบ ผ่านมุมมองของศิลปินผู้คร่ำหวอดและเขียนภาพด้วยสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร ขณะเดียวกันจุดสีเล็กๆที่เป็นพื้นฐานของเทคนิคผสานจุดสีตั้งแต่เริ่มแรกได้เปลี่ยนไปเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆคล้ายกระเบื้องโมเสคซึ่งแตกต่างจากเดิมไปค่อนข้างมาก และกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานที่โดดเด่นในช่วงหลังนี้ได้แก่ภาพ Entrance of La Rochelle Harbor, The Papal Palace, Avignon, Grand Canal (Venise) และ The Pine Tree at Saint Tropez เป็นต้น ซีญักเสียชีวิตจากภาวะโลหิตเป็นพิษเมื่อปี 1935 ในวัย 71 ปี
ผลงานงดงามมีเอกลักษณ์ประทับใจ
จากเด็กรักศิลปะหัวก้าวหน้าในย่านมงต์มาตร์ ซีญักได้ก้าวสู่วงการเขียนภาพด้วยความหลงใหลในศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ ต่อมาจึงได้ร่วมพัฒนาเทคนิคผสานจุดสีสร้างผลงานศิลปะในลัทธิประทับใจใหม่ ตลอดช่วงเกือบ 5 ทศวรรษของการเป็นจิตรกร เขาได้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาจำนวนมาก และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานที่งดงามและมีเอกลักษณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่งของเขา
Early Works (1882 – 1885)
Pointillism Period (1885 – 1890)
Neo-Impressionism Period (1890 – 1900)
Later Years (1900 – 1930)
ในลัทธิประทับใจยุคหลังมีศิลปินที่โดดเด่นหลายคน หนึ่งในนั้นคือปอล ซีญักผู้ร่วมสร้างและพัฒนาเทคนิคผสานจุดสีไปสู่ลัทธิประทับใจใหม่ที่สมบูรณ์แบบ ผลงานของซีญักถือเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการศิลปะสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบ และในที่สุดได้กลายเป็นศิลปะแบบนามธรรม
ข้อมูลและภาพจาก wikipedia, theartstory, impressionistarts