แผนภูมิด้านล่างแสดงต้นทุนเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จาก 58 ตลาดเกิดใหม่ เห็นชัดว่าต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงอย่างรวดเร็วและต่ำกว่าพลังงานลมเป็นครั้งแรกเมื่อถึงสิ้นปี 2016
“ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือประเทศจีนที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และช่วยประเทศอื่นๆลงทุนในโครงการของตัวเองด้วย” Ethan Zindler นักวิเคราะห์ของ BNEF กล่าว
ปีนี้เราได้เห็นการดำเนินการที่น่าทึ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การประมูลโดยบริษัทเอกชนที่แข่งขันกันเพื่อได้รับสัญญาการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทำให้ราคาต่ำลงๆ เริ่มจากเดือนมกราคมด้วยสัญญาผลิตไฟฟ้าที่ราคา 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงที่อินเดีย จากนั้นข้อตกลงในเดือนสิงหาคมที่ชิลีได้ตอกย้ำราคาที่ 29.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเป็นต้นทุนไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด เพียงแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของต้นทุนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
“พลังงานทดแทนกำลังเข้าสู่ยุคตัดราคาพลังงานฟอสซิล” Michael Liebreich ประธาน BNEF กล่าว
นอกจากนี้ปี 2016 จะเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดย BNEF คาดว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม 70 กิกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมจะมีการสร้างราว 59 กิกะวัตต์
พลังงานลมยังเป็นทางเลือกสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญ มันยังมีช่องว่างที่จะเติบโตและสามารถใช้เทคโนโลยีในการทำให้ต้นทุนต่ำลงได้อีกมาก ขณะที่ก๊าซธรรมชาติก็ยังอยู่ในจุดที่ดีสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
เมื่อเร็วๆนี้โลกได้ผ่านจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่างคือการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดในแต่ละปีสูงกว่าสูงกว่าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติรวมกัน คาดการณ์ว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิลจะถึงจุดสูงสุดในทศวรรษหน้า จากนั้นจะลดลงและถูกทดแทนด้วยพลังงานสะอาด
ข้อมูลและภาพจาก bloomberg, cleantechnica