เด็กกำพร้าพ่อแม่ผู้ชื่นชอบการเขียนภาพ
ฮัวคิน โซโรยา เป็นชาวสเปน เกิดเมื่อปี 1863 ที่เมืองบาเลนเซีย เมืองใหญ่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศสเปน พ่อและแม่ของโซโรยาเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคเมื่อเขามีอายุแค่สองปี เด็กกำพร้าพ่อแม่อย่างเขาเลยต้องเติบโตภายใต้การเลี้ยงดูของป้าและลุง โซโรยาสนใจในการเขียนภาพตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่ลุงของเขาพยายามสอนการค้าขายให้หลานชาย แต่เขากลับจดจ่ออยู่กับการเขียนภาพ ช่วงเข้าเรียนชั้นมัธยมอาจารย์ที่โรงเรียนเห็นแววของโซโรยาจึงแนะนำลุงของเขาให้ส่งเสริมเขาด้านการเขียนภาพ ปี 1876 โซโรยาจึงได้เข้าเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งในเมืองบาเลนเซีย และด้วยพรสวรรค์ด้านศิลปะที่โดดเด่น สองปีหลังจากนั้นเขาจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวิจิตรศิลป์แห่งวาเลนเซีย
บ้านเกิดของโซโรยาเป็นเมืองชายฝั่งทะเลและตัวเขาเองนั้นชอบการวาดภาพกลางแจ้งมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นผลงานในช่วงแรกของการพัฒนาฝีมือของเขาจึงมักเป็นภาพทิวทัศน์ทะเล ในปี 1881 ฝีมือของโซโรยาในวัย 18 ปีเริ่มโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ผลงานภาพทิวทัศน์ทะเลเมืองบาเลนเซียของเขา 3 ภาพได้เข้าร่วมแสดงในงานนิทรรศการศิลปะแห่งชาติ หนึ่งในนั้นคือภาพ Harbour ปีเดียวกันนี้เขาได้เดินทางไปกรุงมาดริดเพื่อศึกษาผลงานของศิลปินชั้นครูยุคก่อนที่พิพิธภัณฑ์ปราโด ปี 1884 โซโรยาเข้าร่วมแข่งขันภาพเขียนในหัวข้อภาพประวัติศาสตร์ ภาพ The Palleter’s Cry ของเขาสร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการตัดสิน ทำให้เขาชนะการแข่งขันได้รับทุนไปเรียนศิลปะที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 4 ปี
ค้นหาอิทธิพลของแสงและสไตล์ตัวเอง
การได้มาเรียนศิลปะที่อิตาลีทำให้โซโรยามีโอกาสได้ศึกษาผลงานของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์และศิลปินอื่นๆอีกจำนวนมาก ปี 1885 โซโรยาไปอยู่ที่กรุงปารีสระยะหนึ่ง ช่วงเวลานั้นทำให้เขาได้สัมผัสและซึมซับกับแนวศิลปะสมัยใหม่เป็นครั้งแรก เมื่อกลับมาที่อิตาลีเขาก็ได้ศึกษาและพัฒนาฝีมือการเขียนภาพของเขาพร้อมกับค้นหาสไตล์ของตัวเองต่อไป โซโรยาเป็นจิตรกรที่ให้ความสำคัญกับอิทธิพลของแสงในภาพเป็นอย่างมาก เขาเคยกล่าวว่าแสงคือชีวิตของทุกสิ่งที่มันสัมผัส ยิ่งมีแสงในภาพเขียนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีชีวิตชีวาและความสวยงามมากขึ้นเท่านั้น จนบางครั้งเขาก็ถูกวิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับแสงมากกว่าเนื้อหาที่นำเสนอ
ปี 1888 โซโรยากลับมาที่สเปนเพื่อแต่งงานกับ Clotilde García del Castillo ซึ่งพบกันเมื่อปี 1879 ตอนที่เขาช่วยงานพ่อของเธอ ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน ต่อมา Clotilde และลูกๆได้กลายเป็นนางแบบคนสำคัญของโซโรยา เมื่อเริ่มเป็นศิลปินอาชีพเต็มตัวหลังจากจบการศึกษาที่อิตาลี โรโซยาได้ตกผลึกความคิดสร้างแนวทางการเขียนภาพของตัวเอง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ที่ในตอนนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงในวงการศิลปะที่กรุงปารีส ปี 1890 โซโรยาย้ายครอบครัวไปอยู่ที่กรุงมาดริดเพื่อโอกาสด้านการงานที่ดีกว่า และสองปีต่อมาเขาก็ประสบความสำเร็จกับผลงานสำคัญชิ้นแรกคือภาพ Another Marguerite! ภาพนักโทษหญิงผู้ฆ่าลูกตัวเองนั่งบนรถไฟขณะถูกควบคุมตัวไปขังคุกซึ่งโดดเด่นด้วยการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง โดยมีการให้แสงในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่ยอดเยี่ยมมาก ภาพนี้ได้รับเหรียญรางวัลอันดับหนึ่งในงานนิทรรศการศิลปะแห่งชาติปี 1892 รวมทั้งได้รับรางวัลที่หนึ่งในงานศิลปะนานาชาติที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ก้าวเป็นศิลปินชั้นนำด้วยผลงานยอดเยี่ยม
ผลงานภาพ Another Marguerite! ส่งให้โซโรยาก้าวขึ้นเป็นจิตรกรสมัยใหม่แถวหน้าของสเปนในเวลาอันรวดเร็ว ปี 1984 เขาตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งด้วยผลงานภาพ The Return from Fishing ภาพนี้โซโรยาไม่เพียงแต่ได้พัฒนาฝีมือการเขียนภาพไปอีกขั้นหนึ่งเท่านั้น แต่ยังค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองอีกด้วย ภาพนี้แสดงทิวทัศน์บรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอันเป็นบ้านเกิดและเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก The Return from Fishing เป็นภาพที่โซโรยาประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับนานาชาติ เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะ Paris Salon ปี 1895 ได้รับรางวัลเหรียญรางวัลและความชื่นชมเป็นอย่างสูง รวมทั้งถูกซื้อไปโดยรัฐบาลฝรั่งเศส ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Musée du Luxembourg ในกรุงปารีส
เมื่อฝีมือการเขียนภาพและแนวทางการนำเสนออันเป็นตัวตนของตัวเองเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน โซโรยาจึงได้สร้างสรรค์ผลงานในแนวนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง จากภาพ They Still Say Fish is Expensive! ต่อด้วยภาพ Valencian Fisherman จนถึงภาพ Mending the Sail โซโรยามีผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี 1899 เขาได้สร้างผลงานระดับสุดยอดอีกครั้งคือภาพ Sad Inheritance ซึ่งไม่เพียงถ่ายทอดบรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งทะเล แต่ยังสะท้อนปัญหาสังคมน่าเศร้าใจผ่านทางภาพเด็กพิการซึ่งตกเป็นเหยื่อของโรคซิฟิลิสที่ถูกถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ภาพนี้ได้รับความชื่นชมและรางวัลต่างๆมากมาย ถึงจุดนี้โซโรยาได้รับการยอมรับว่าเขาได้กลายเป็นจิตรกรอันดับหนึ่งแห่งสเปนไปแล้ว
จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ผู้โดดเด่นในแสงจ้า
แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังแล้วแต่โซโรยาก็ไม่ได้หยุดสร้างผลงานและพัฒนาฝีมือ ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เขาสร้างผลงานออกมามากที่สุด ภาพเขียนของเขาในช่วงเวลานี้ยังถือว่ามีความโดดเด่นมากที่สุดอีกด้วย ผลงานของเขาส่วนใหญ่นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งทะเลภายใต้แสงแดดเจิดจ้า แวดล้อมด้วยผืนน้ำทะเลและเกลียวคลื่นที่อาบด้วยแสงอาทิตย์ โซโรยาเขียนภาพในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่สวยงามมีชีวิตชีวาและมีความเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ ภาพของเขารู้สึกได้อย่างชัดเจนถึงแสงอาทิตย์สว่างจ้าที่ปรากฏอยู่ที่ผู้คนและผืนน้ำ องค์ประกอบทั้งหมดกลายเป็นสไตล์ที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาพเขียนของโซโรยามีมนต์เสน่ห์อย่างประหลาดสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างยิ่ง
หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงมากที่สุดของโซโรยาถูกเขียนในปี 1909 นั่นคือภาพ Walk on the Beach เป็นภาพของผู้หญิงร่างระหงในชุดยาวสีขาวสองคนกำลังเดินบนชายหาดเมืองบาเลนเซีย ท่ามกลางแสงอาทิตย์ช่วงหัวค่ำในฤดูร้อนของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยเทคนิคให้ลงสีและให้แสงเงาเฉพาะตัวของโซโรยาทำให้ผู้หญิงในชุดขาวสองคนซึ่งแสดงแบบโดยภรรยาและลูกสาวของเขาเองมีความสวยงามและโดดเด่นมาก และนี่ก็เป็นแบบฉบับของการพัฒนาจากอิมเพรสชั่นนิสม์มาเป็นอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคหลังในสเปนที่เรียกว่า Valencian Luminism นอกจากนี้โซโรยายังมีผลงานที่ยอดเยี่ยมและโดดเด่นในช่วงนี้อีกมากมาย รวมทั้งภาพ The Horse’s Bath, Children on the Seashore, Beach of Valencia in the Morning Light และภาพ Beach at Valencia (Afternoon Sun) ซึ่งภาพที่ตัวโซโรยาเองชื่นชอบมากที่สุด
ศิลปินสมัยใหม่ผู้โดดเด่นแห่งยุคของสเปน
แม้ว่าการเขียนภาพเหมือนบุคคลจะไม่ใช่แนวที่ชื่นชอบของโซโรยา เพราะมันอาจจำกัดความกระหายในการคิดสร้างสรรค์งาน แต่ด้วยความนิยมในภาพเหมือนของผู้คน ค่าจ้างที่น่าดึงดูดใจ การคิดถึงผลงานของ Diego Velázquez ไอดอลคนสำคัญของเขา รวมทั้งความปรารถนาที่จะแข่งขันในด้านนี้กับเพื่อนร่วมวงการ โซโรยาจึงมีผลงานภาพเหมือนบุคคลออกมาไม่น้อย ภาพเหมือนหลายภาพของโซโรยามีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร อย่างเช่นภาพ Portrait of Dr Simarro at the Microscope, Self-Portrat (1909) และภาพ Louis Comfort Tiffany เป็นต้น
ปี 1911 โซโรยาได้รับงานสำคัญเขียนภาพชุดขนาดใหญ่แสดงวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตชาวสเปนจำนวน 14 ภาพในชื่อชุดว่า The Provinces of Spain หรือ Vision of Spain เพื่อใช้ประดับในอาคารสมาคมชาวสเปนที่สหรัฐอเมริกา โซโรยาเดินทางไปยังเมืองต่างๆในสเปนมากกว่า 10 เมืองเพื่อเขียนภาพชุดนี้จนแล้วเสร็จในปี 1919 ภาพเขียนเด่นในผลงานชุดนี้ได้แก่ภาพ The Bread Festival (Castile), The Dance (Sevilla) และ Tuna Fishing (Ayamonte) เป็นต้น ภาพเขียนชุดนี้เป็นผลงานสำคัญชุดสุดท้ายในชีวิตของเขา ในปี 1920 โซโรยาป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เขาเป็นอัมพาตนานกว่า 3 ปีก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1923 ด้วยวัย 60 ปี ทิ้งผลงานภาพเขียนที่ยอดเยี่ยมไว้นับพันภาพ เขาได้รับการยกย่องเป็นศิลปินสมัยใหม่ผู้โดดเด่นแห่งยุคของสเปน
ผลงานงดงามสว่างสดใสใต้แสงตะวันฉาย
โซโรยาชื่นชอบการเขียนภาพกลางแจ้ง เขาสามารถถ่ายทอดทิวทัศน์บรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้อย่างยอดเยี่ยม เขาเขียนภาพได้ดีหลายแนวทั้งภาพประวัติศาสตร์ ภาพเหมือนบุคคล แต่ภาพสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนริมฝั่งทะเลภายใต้แสงแดดเจิดจ้า แวดล้อมด้วยผืนน้ำทะเลและเกลียวคลื่นที่อาบด้วยแสงอาทิตย์จะโดดเด่นเป็นพิเศษ และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานที่ยอดเยี่ยมของศิลปินผู้โดดเด่นแห่งสเปนคนนี้
Early Works (1881 – 1890)
Building Reputation Period (1891 – 1900)
Maturity Period (1901 – 1910)
Later Years (1911 – 1919)
ลัทธิประทับใจยุคหลังมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในหลากหลายแนวทาง โซโรยาคือหนึ่งในศิลปินที่ได้พัฒนาสไตล์จากอิมเพรสชั่นนิสม์ดั้งเดิมให้มีความโดดเด่นในแบบฉบับของตัวเอง เขาคือผู้นำของกลุ่มศิลปินในสเปนที่สร้างผลงานในสไตล์ที่เรียกว่า Valencian Luminism โซโรยานับเป็นศิลปินสมัยใหม่ของสเปนที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง
ข้อมูลและภาพจาก sorollaexperts, wikipedia, nationalgallery