เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทีมวิจัยใช้เรียกว่า “Shift and Stack” ซึ่งเป็นการนำภาพที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อย่างต่อเนื่องนาน 3 ชม.มาซ้อนกัน จากนั้นทำการวิเคราะห์มองหาจุดเคลื่อนที่บนภาพซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็นดวงจันทร์ดวงใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ ด้วยเทคนี้ดวงจันทร์ที่เดิมไม่เคยถูกค้นพบอันเนื่องมาจากมีขนาดเล็กหรือมีความสว่างน้อยเกินไปจะสามารถถูกแยกแยะและค้นพบได้ ดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบในคราวนี้บางดวงมีขนาดกว้างเพียง 2.5 กม.เท่านั้น
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถยืนยันได้ทันทีว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบนั้นเป็นดวงจันทร์ เพราะมันอาจเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องติดตามวัตถุที่ค้นพบเป็นเวลานานก่อนที่จะแน่ใจว่าพวกมันกำลังโคจรรอบดาวเคราะห์จริงๆ หลังจากที่ทีมนักดาราศาสตร์ได้ติดตามวัตถุที่พวกเขาค้นพบเป็นเวลานานกว่า 2 ปี จึงได้ออกมาประกาศยืนยันว่าได้ค้นพบวงจันทร์บริวารใหม่ของดาวเสาร์จำนวน 62 ดวง รูปข้างล่างแสดงการโคจรของดวงจันทร์ใหม่ 4 ดวงรอบดาวเสาร์ (จุดดำตรงกลาง)
ดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบใหม่ทั้ง 62 ดวงนี้เป็น “ดวงจันทร์ที่ผิดปกติ” ซึ่งหมายความว่าพวกมันจะมีวงโคจรขนาดใหญ่ รูปวงรี และเอียงเมื่อเทียบกับดวงจันทร์ปกติ รวมทั้งมักจะรวมกลุ่มกันโคจรในทิศทางตรงกันข้ามของการหมุนของดาวเสาร์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าพวกมันอาจมีต้นกำเนิดมาจากดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่แตกออกเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กหลายดวงเมื่อหลายล้านปีก่อน
ดาวเสาร์มีดวงจันทร์ปกติทั้งหมด 24 ดวง ที่เหลือ 121 ดวงเป็นดวงจันทร์ที่ผิดปกติซึ่งถูกจัดเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะวงโคจรเรียกว่า Inuit group, Gallic group, และ Norse group ดวงจันทร์ที่ถูกค้นพบใหม่กระจายอยู่ในสามกลุ่มนี้ โดยมีดวงจันทร์ใหม่ 3 ดวงอยู่ใน Inuit group แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ใน Norse group เชื่อกันว่าดวงจันทร์ที่ผิดปกติทั้งสามกลุ่มนี้เป็นผลของการชนกันหนึ่งครั้งหรือมากกว่าของดวงจันทร์ดั้งเดิมเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน
ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ยังคงดึงดูดความสนใจของนักดาราศาสตร์ต่อไป พวกมันมีทั้งดวงจันทร์ขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของระบบสุริยะคือดวงจันทร์ไททันซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ และมีดวงจันทร์ขนาดเล็กๆอีกนับร้อยดวง นักดาราศาสตร์หลายคนเชื่อว่ามีดวงจันทร์เล็กๆเหล่านี้อีกนับพันที่ซ่อนตัวอยู่ในระบบแหวนดาวเสาร์รอการค้นพบอยู่
ข้อมูลและภาพจาก abplive, space, universetoday