กล้องเจมส์ เวบบ์ถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีก่อนเพื่อนเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 ภาพที่ทุกคนได้เห็นให้ความรู้สึกแปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เห็นวงแหวนที่บางเบาคล้ายเงาสลัวของวิญญาณ นอกจากรายละเอียดอันน่าทึ่งที่เห็นในเมฆและพายุที่วุ่นวายของดาวดาวพฤหัสบดี เรายังได้เห็นแสงออโรราที่ส่องสว่างอยู่ที่ขั้วทั้งสองของดวงดาว รวมทั้งดวงจันทร์เล็กๆที่ไม่ค่อยรู้จักกันสองดวงอีกด้วย ถือเป็นภาพที่เห็นองค์ประกอบสำคัญของดาวพฤหัสบดีอย่างชัดเจนและสวยงามมาก
ดาวเสาร์
นี่เป็นภาพล่าสุดซึ่งทำให้กล้องเจมส์ เวบบ์ถ่ายภาพดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนทั้งสี่ดวงนี้ครบถ้วน ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2023 ภาพดาวเสาร์จากกล้องเจมส์ เวบบ์เห็นเป็นสีค่อนข้างมืดแต่ทำให้เรามีมุมมองที่งดงามของแหวนอันโชติช่วงของดาวเสาร์ส่องแสงสีทองในความมืด ดวงจันทร์ที่น่าหลงใหลสามดวงของดาวเสาร์ ได้แก่ Dione, Enceladus และ Tethys มองเห็นเป็นจุดแสงสว่างอยู่ที่ด้านซ้ายมือ ดาวเสาร์นอกจากจะมีวงแหวนที่ใหญ่มองเห็นชัดเจนที่สุดแล้ว ยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุดถึง 145 ดวงอีกด้วย
ดาวยูเรนัส
ดาวยูเรนัสอยู่ค่อนข้างไกลและเป็นดาวที่ค่อนข้างประหลาด ดาวยูเรนัสเอียงตะแคงไปด้านข้างมากเป็นพิเศษซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการอธิบายที่สมเหตุสมผลมาก ภาพดาวยูเรนัสโดยกล้องเจมส์ เวบบ์ถูกปล่อยออกมาเมื่อเดือนเมษายน ปี 2023 เผยให้เห็นโครงสร้างของระบบวงแหวนที่น่าทึ่งเกือบทั้งหมดและบรรยากาศที่สว่างขึ้นอย่างอธิบายไม่ได้ที่เหนือขั้วของดวงดาว
ดาวเนปจูน
การถ่ายภาพดาวเนปจูนของกล้องเจมส์ เวบบ์ทำในช่วงเดือนกันยายน ปี 2022 เนื่องจากดาวเนปจูนอยู่ไกลมาก จึงมักไม่ค่อยจะได้เห็นภาพถ่ายของดาวเนปจูนมากนัก คุณอาจเคยเห็นภาพที่ถ่ายโดยวอยเอจเจอร์ 2 เมื่อบินผ่านในปี 1989 ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์ทำให้เราได้เห็นรูปลักษณ์ใหม่ของวงแหวนอันสวยงามของดาวน้ำแข็งยักษ์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี นอกจากนี้ภาพนี้ยังเผยให้เห็นดวงจันทร์ 7 ดวงจาก 14 ดวงที่รู้จักของดาวเนปจูน รวมทั้งจุดสว่างในชั้นบรรยากาศซึ่งส่วนใหญ่เป็นพายุ
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ไม่เพียงศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลในยุคแรกๆด้วยภาพถ่ายระยะไกลหลายล้านปีแสง แต่ยังเปิดโลกวิทยาศาสตร์อวกาศใกล้โลกของเราด้วย เพียงไม่ถึงหนึ่งปีนับจากที่กล้องเจมส์ เวบบ์ได้ส่งภาพแรกกลับมายังโลก มันก็ได้สร้างความฮือฮามากมาย ทำให้อดไม่ได้ที่จะคาดการณ์ว่าสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ๆจะเกิดขึ้นในปีต่อๆไป
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, sciencesprings