ตามตำนานของจีนบอกว่าความลับของการทำผ้าไหมถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศจีน เมื่อรังไหมหล่นลงไปในถ้วยชาของพระมเหสีของจักรพรรดิเหลืองผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มอารยธรรมจีน พระนางพบว่าสามารถดึงเส้นไหมออกจากรังไหมได้ยาวถึงหนึ่งกิโลเมตร
ในการศึกษาหาแหล่งกำเนิดของผ้าไหม นักโบราณคดีได้ไปตรวจสอบที่ซากปรักหักพังซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่เมืองเจี่ยหู (Jiahu) มณฑลเหอหนาน (Henan) ตอนกลางของประเทศจีน ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบขลุ่ยทำจากกระดูกนกกระเรียนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นเป็นเพลงได้ที่เก่าแก่ที่สุดในสถานที่แห่งนี้ รวมถึงพบหลักฐานส่วนประกอบของเบียร์อยู่ในเนื้อภาชนะดินเผาที่ขุดพบที่นี่อีกด้วย
Decai Gong นักโบราณคดีหนึ่งในทีมวิจัยบอกว่าจากเรื่องเล่าเก่าๆบ่งชี้ว่าการเพาะขยายพันธุ์ของตัวไหมและการทอใยไหมเริ่มต้นขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้ ประกอบกับการวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าเมืองเจี่ยหูมีสภาพอุณหภูมิและความชื้นพอเหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นหม่อนที่มีใบเป็นอาหารของตัวไหม
นักวิจัยได้เก็บดินตัวอย่างจากสุสาน 3 แห่งในเมืองเจี่ยหูไปตรวจสอบ จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบโปรตีนไหมในดินตัวอย่างจากสุสาน 2 แห่ง หนึ่งในนั้นมีอายุ 8,500 ปี
“นี่เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของไหมในสมัยจีนโบราณ” Gong กล่าว โดยก่อนหน้านี้มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของไหมย้อนหลังไป 5,000 ปี
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะบอกแน่นอนได้ว่าไหมถูกใช้อย่างไรในสถานที่นี้ แต่นักวิจัยคิดว่าผู้คนที่นี่อาจใช้ผ้าไหมคลุมหรือแต่งกายศพที่เข้าพิธีฝัง หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือเข็มที่ทำจากกระดูกและเครื่องมือทอผ้าที่พบในสถานที่นี้เช่นกัน
“ชาวเมืองเจี่ยหูมีความชำนาญในเรื่องการทอและการเย็บผ้า” Gong กล่าว “มันเป็นไปได้ที่เส้นไหมอาจถูกทำเป็นผ้า”
นักวิจัยบอกว่าพวกเขาจะตามหาหลักฐานของไหมจากทั้งที่นี่และที่อื่นๆต่อไป หวังว่าอีกไม่นานเราจะได้รับข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม
ข้อมูลและภาพจาก livescience, newhistorian