กราฟีนมีศักยภาพในการประยุกต์ใช้งานในหลากหลายรูปแบบ เช่น อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น งานวิจัยหนึ่งเมื่อปีที่แล้วระบุว่ากราฟีนสามารถช่วยให้แบตเตอรี่ของสมาร์โฟนใช้งานได้นานขึ้นอีก 25% และยังมีศักยภาพที่จะกรองเอาเชื้อเพลิงจากในอากาศได้อีกด้วย
แต่การใช้งานกราฟีนยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการผลิตกราฟีนต้องใช้ก๊าซที่ง่ายต่อการระเบิด เช่น มีเทนหรือไฮโดรเจน และใช้กระบวนการที่เป็นสูญญากาศ ใช้ความร้อนสูงนานหลายชั่วโมง ซึ่งทำให้มันมีราคาสูงมาก
แต่นักวิจัยที่ CSIRO ได้สร้างกราฟีนในสภาพบรรยากาศปกติและใช้เพียงน้ำมันถั่วเหลืองราคาถูก กับเทคนิคใหม่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘GraphAir’ โดยการให้ความร้อนน้ำมันถั่วเหลืองในเตาท่อควอทซ์ปิดสนิทที่อุณหภูมิ 800 °C นานประมาณ 30 นาทีเพื่อให้น้ำมันถั่วเหลืองสลายตัวเป็นธาตุคาร์บอน จากนั้นทำให้ธาตุคาร์บอนเย็นลงอย่างรวดเร็วบนกระดาษฟอยล์ที่ทำจากนิเกิล ธาตุคาร์บอนจะแพร่กระจายกลายเป็นแผ่นกราฟีนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่หนาเพียง 1 นาโนเมตร (บางกว่าเส้นผมมนุษย์ราว 800 เท่า)
การผลิตกราฟีนด้วยเทคนิคนี้ไม่เพียงแต่ทำได้ง่ายและมีราคาถูกเท่านั้น มันยังทำได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่นๆมาก (การสร้างกราฟีนในสูญญากาศใช้เวลาหลายชั่วโมง)
“การสร้างกราฟีนด้วยเทคนิคของเรานั้นง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย และมีศักยภาพในการเพิ่มปริมาณ” Zhao Jun Han หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “เทคโลโลยีของเราจะทำให้การผลิตกราฟีนมีต้นทุนลดลงและเพิ่มการประยุกต์ใช้งานแบบใหม่”
Zhao บอกว่าด้วยเทคนิคใหม่นี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตกราฟีนลดลงถึง 10 เท่า และไม่เพียงเท่านั้นมันยังเพิ่มทางเลือกที่ยั่งยืนในการรีไซเคิลขยะจากน้ำมันปรุงอาหารอีกด้วย
“ตอนนี้เราสามารถนำน้ำมันปรุงอาหารที่เป็นขยะกลับมาใช้ใหม่ได้แทนที่จะต้องเอาไปทิ้ง ด้วยการเปลี่ยนมันให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์” Dong Han Seo นักวิจัยอีกคนกล่าว
แต่คำถามในขณะนี้คือมันจะสามารถเพิ่มขนาดแผ่นกราฟีนได้อีกหรือไม่ เนื่องจากกราฟีนที่ผลิตได้ด้วยเทคนิคนี้มีขนาดไม่เกิน 5 ซม x 2 ซม. ซึ่งยังไม่เหมาะสำหรับการใช้ในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามขณะนี้ CSIRO กำลังมองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยทำให้การผลิตแผ่นกราฟีนสามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อยู่
ข้อมูลและภาพจาก csiro, sciencealert