Hongjie Dai และ Michael Angell สองนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้คิดค้นพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่ที่ไม่ติดไฟ ทำจากวัสดุที่มีราคาถูกและหาได้ง่าย ขั้วไฟฟ้าทำจากอลูมิเนียมและกราไฟท์ ส่วนสารละลายอีเล็คโทรไลต์มีส่วนประกอบหลักเป็นยูเรีย ซึ่งมีการผลิตอยู่แล้วมากมายในรูปของปุ๋ยเคมี
“มันคือแบตเตอรี่ที่ทำจากวัสดุที่มีราคาถูกและมีอยู่มากมายบนโลกของเรา มันมีประสิทธิภาพดีจริง ใครจะไปคิดว่าคุณสามารถนำกราไฟท์ อลูมิเนียม และยูเรีย มาทำเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้อย่างยาวนาน” Dai กล่าว
ในปี 2015 Dai ได้สร้างแบตเตอรี่อลูมีเนียมที่ชาร์จใหม่ได้เป็นครั้งแรก มันชาร์จไฟเร็วมากใช้เวลาไม่ถึงนาทีและยังชาร์จซ้ำได้เป็นพันครั้ง เขาได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวันนำแบตเตอรี่นี้ไปใช้กับมอเตอร์ไซค์ ทำให้พวกเขาได้รับรางวัล ‘2016 R&D 100 Award’ แต่แบตเตอรี่รุ่นนี้ใช้อีเล็คโทรไลต์ที่มีราคาแพงเกินไป
แบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ใช้ยูเรียทำเป็นอีเล็คโทรไลต์นั้นมีราคาถูกกว่าแบตเตอรี่รุ่นปี 2015 ถึง 100 เท่า มีประสิทธิภาพสูงกว่า และใช้เวลาในการชาร์จนาน 45 นาที
“เป้าหมายหลักแบตเตอรี่รุ่นใหม่คือใช้เก็บไฟฟ้าสำรองของระบบจ่ายไฟฟ้า” Angell กล่าว
Angell บอกว่าการใช้เก็บไฟฟ้าสำรองมีความเป็นไปได้สูงมากเพราะมันมีราคาถูก มีประสิทธิภาพสูง และมีอายุการใช้งานนาน โดยมันมีค่าประสิทธิภาพคูลอมบ์สูงถึง 99.7% นอกจากนี้แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนยังมีความเสี่ยงเรื่องการติดไฟ ในขณะที่แบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้ไม่ติดไฟ
พวกเขาได้จดสิทธิบัตรแบตเตอรี่ยูเรียนี้แล้วในนามบริษัท AB Systems ซึ่ง Dai เป็นผู้ก่อตั้ง และขณะนี้กำลังพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคงต้องให้มีอายุใช้งานได้เกิน 10 ปี
“ด้วยแบตเตอรี่แบบใหม่นี้ เราฝันว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกเก็บอยู่ที่ทุกๆอาคารและบ้านทุกหลัง” Dai กล่าว “มันอาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันไปเลยก็ได้ ใครจะไปรู้”
ข้อมูลและภาพจาก stanford, energymatters