ในตอนกลางวันโลกเราร้อนขึ้นจากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ในรูปรังสีอินฟาเรดชนิดคลื่นสั้น อาคารบ้านเรือนก็รับเอาความร้อนนี้เอาไว้ ในตอนกลางคืนอาคารจะคายความร้อนกลับคืนสู่บรรยากาศด้วยการแผ่รังสีชนิดคลื่นยาว ในตอนกลางวันอาคารก็มีการคายความร้อนเหมือนกับตอนกลางคืน แต่มันถูกบดบังและพ่ายแพ้ต่อรังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์
แผ่นฟิล์มที่มหาวิทยาลัยโคโลราโดพัฒนาขึ้นนั้นมีคุณสมบัติสะท้อนรังสีคลื่นสั้นที่มาจากดวงอาทิตย์ได้ดี ขณะเดียวกันก็สามารถให้รังสีคลื่นยาวที่แผ่ออกมาจากอาคารผ่านออกไปได้ด้วย ดังนั้นอาคารจึงเย็นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
แผ่นฟิล์มเป็นพลาสติกใสบางๆชนิดที่เรียกว่า พอลีเมทิลเพนทีน (polymethylpentene) เคลือบบางด้วยเงิน (Silver) มีความหนาราว 50 ไมครอน (หนากว่าอลูมิเนียมฟอยล์เล็กน้อย) สามารถขึ้นรูปเป็นม้วนได้ ทำให้มีราคาถูก เหมาะสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์
“เพียงวางวัสดุนี้แค่ 10 ถึง 20 ตารางเมตรบนหลังคา ก็สามารถทำให้บ้านเย็นลงอย่างดี แม้จะเป็นฤดูร้อน” Gang Tan หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
นอกจากนี้แผ่นฟิล์มใหม่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอายุใช้งานของแผ่นโซลาร์เซลล์ได้อีกด้วย โดยวางแผ่นฟิล์มบนผิวหน้าของแผ่นโซลาร์เซลล์ จะทำให้มันเย็นลงช่วยยืดอายุการใช้งานได้ แถมยังได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีก 1 – 2%
พวกเขาได้ยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีนี้แล้วและกำลังมองหาช่องทางในการประยุกต์ใช้งานในเชิงพาณิชย์ และมีแผนสร้างต้นแบบระบบทำความเย็นด้วยวัสดุนี้ขนาด 200 ตารางเมตรที่เมือง Boulder ในปี 2017 นี้ด้วย
สิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้เป็นผลผลิตจากเงินทุน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่สำนักวิจัยกระทรวงพลังงาน สหรัฐอเมริกา มอบให้กับนักวิจัยกลุ่มนี้เมื่อปี 2015
ข้อมูลและภาพจาก colorado.edu, treehugger