ไฮโดรเจลถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 1960 และมีการพัฒนาคุณสมบัติมาโดยตลอด ไฮโดรเจลบางชนิดมีความเหนียวและยืดตัวได้มากเป็นพิเศษและเมื่อแตกออกแล้วสามารถกลับมารวมตัวได้ใหม่ได้ง่าย เหมาะที่จะทำเป็นกระดูกอ่อนเทียม มีการพัฒนาสร้างนาโนไฮโดรเจล (Nanohydrogel) ขึ้น เพื่อใช้เป็นสารนำส่งยาที่สามารถตอบสนองสภาวะต่างๆที่เปลี่ยนไปได้
ในงานวิจัยใหม่นี้นักวิจัยนำไฮโดรเจลรวมเข้ากับผ้าใยแก้วกลายเป็นวัสดุที่พิเศษอีกชนิดหนึ่ง มีความทนทานกว่าผ้าใยแก้ว 25 เท่า ทนทานกว่าไฮโดรเจลอย่างเดียว 100 เท่า และแข็งแรงกว่าเหล็ก 5 เท่า
เมื่อทีมวิจัยนำไฮโดรเจลชนิดโพลีแอมโฟไลต์ (Polyampholyte) ที่พวกเขาพัฒนาขึ้น มารวมกับผ้าใยแก้วที่เส้นใยเล็กมากขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 10 ไมครอน พวกเขาพบว่าพันธะไอออนิก (Ionic bond) ระหว่างเส้นใยกับไฮโดรเจลได้สร้างความแข็งแรงให้กับไฮโดรเจลเสริมใยแก้วนี้อย่างน่าทึ่ง
“ไฮโดรเจลเสริมใยแก้วซึ่งมีน้ำอยู่ 40% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” Jian Ping Gong หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “วัสดุนี้มีศักยภาพในการประยุกต์ใช้งานได้หลายอย่างด้วยคุณสมบัติความทนทานและความยืดหยุ่นของมัน เช่น สามารถใช้ทำเอ็นเทียมที่รับแรงดึงสูงได้”
น่าสนใจว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ไฮโดรเจลเสริมใยแก้วในรูปแบบใดบ้าง ที่จะทดแทนวัสดุแบบเดิมด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่า ราคาถูกกว่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลและภาพจาก inhabitat, newatlas