“สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตคนได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก” Margaret Chan ผู้อำนวยการของ WHO กล่าว “อวัยวะ ระบบภูมิคุ้มกัน ร่างกายที่ยังเล็ก และระบบทางเดินหายใจที่กำลังพัฒนาของพวกเขาจะติดเชื้อจากอากาศและน้ำที่สกปรกได้ง่าย”
เด็กอาจรับความเสี่ยงได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่และเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น เมื่อเด็กเล็กสัมผัสกับมลพิษทางอากาศทั้งในบ้านและนอกบ้าน และควันบุหรี่มือสอง (ทั้งควันที่ผู้สูบปล่อยออกมาและควันจากปลายบุหรี่) ทำให้พวกเขาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดบวมในวัยเด็ก และเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืดหอบ การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็งในระยะยาวอีกด้วย
รายงานได้เปิดเผยจำนวนเด็กเล็กที่เสียชีวิตที่มีสาเหตุเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษมากที่สุด 5 อันดับแรกดังนี้
- 570,000 คนของเด็กต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อ เช่น โรคปอดบวม เนื่องมาจากมลพิษทางอากาศและควันบุหรี่มือสอง
- 361,000 คนของเด็กต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคท้องร่วง เป็นผลจากการใช้น้ำไม่สะอาด และระบบสุขาภิบาลไม่ดีพอ
- 270,000 คนของเด็กอายุไม่เกินเดือนเดียว เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้น้ำสะอาดและมีระบบสุขาภิบาลและอนามัยที่ดี และลดมลพิษทางอากาศ
- 200,000 คนของเด็กต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย ซึ่งป้องกันได้ด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหรือปิดฝาภาชนะใส่น้ำดื่ม
- 200,000 คนของเด็กต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ไม่เจตนาเนื่องจากสภาพแวดล้อม เช่น ถูกพิษ พลัดตกหกล้ม และจมน้ำตาย
ตัวอย่างหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษได้แก่การเพิ่มขึ้นของขยะอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือเก่า ที่ได้รับการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้เด็กๆได้รับพิษที่จะนำไปสู่การลดความฉลาด สมาธิสั้น ปอดชำรุด และเป็นมะเร็ง ขยะอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 19% ทุกปีระหว่างปี 2014 – 2018 และจะมากถึง 50 ล้านตันภายในปี 2018
“สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพของพวกเด็กๆของเรา” Maria Neira ผู้อำนวยการของ WHO กล่าว “การลงทุนเพื่อขจัดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำหรือการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาด จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็กจำนวนมาก”
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็กๆทั้งในบ้านและนอกบ้านเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันทำ เพื่อป้องกันการเป็นโรคและการเสียชีวิตของเด็ก ยกตัวอย่างเช่น
- บ้าน: ใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดในการสร้างความอบอุ่นหรือทำอาหาร เช่น ไม่ใช้ถ่าน
- โรงเรียน: จัดระบบสุขาภิบาลและอนามัยที่ปลอดภัย ไม่มีเสียงดังรบกวนหรือมลพิษ
- สาธารณูปโภค: จัดหาน้ำสะอาดปลอดภัย ระบบสุขาภิบาลและอนามัยที่ได้มาตรฐาน
- การวางแผนชุมชนเมือง: เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทางเดินและทางจักรยานที่ปลอดภัย
- ระบบขนส่ง: ลดการปล่อยมลพิษและเพิ่มระบบขนส่งสาธารณะ
- การเกษตร: ลดยาฆ่าแมลง ไม่ใช้แรงงานเด็ก
- อุตสาหกรรม: กำจัดขยะที่เป็นอันตราย ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย
- ศูนย์สุขภาพ: ตรวจสุขภาพ ให้ความรู้ด้านผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมและการป้องกัน
ข้อมูลและภาพจาก who, newatlas