นักวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่สำเร็จ ชาร์จเร็ว ไม่ระเบิด จุมากกว่าแบบเดิม 3 เท่า

ทีมวิศวกรที่นำโดย John Goodenough นักวิจัยวัย 94 ปีที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสได้พัฒนาแบตเตอรี่ชนิดของแข็งล้วนเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ชาร์จได้เร็วขึ้น อายุใช้งานนานกว่า มีความจุมากกว่าเดิม ใช้ได้ทั้งในโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า และสถานีเก็บพลังงาน

แบตเตอรี่ลิเธียม-ไออนที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนั้นจะใช้สารอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของเหลวในการถ่ายเทลิเธียมไออนระหว่างขั้วลบและขั้วบวก ซึ่งถ้าแบตเตอรี่ถูกชาร์จเร็วเกินไปมันสามารถจะเกิดเส้นใยโลหะในสารอิเล็กโทรไลต์ที่ทำให้เกิดการลัดวงจรอันจะนำไปสู่การระเบิดและไฟไหม้ได้ แทนที่จะใช้อิเล็กโทรไลต์เป็นของเหลว ทีมวิจัยได้ใช้แก้วเป็นอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งสามารถใช้โลหะแอลคาไลทำเป็นขั้วลบได้โดยไม่ทำให้เกิดเส้นใยโลหะ

การใช้ขั้วลบที่ทำจากโลหะแอลคาไล (ลิเธียม โซเดียม โพแตสเซียม) ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับแบตเตอรี่แบบเดิม จะเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานที่ขั้วบวกและเพิ่มอายุการใช้งานด้วย ในการทดลองแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้สามารถชาร์จไฟซ้ำได้ 1,200 ครั้งโดยที่แทบจะไม่มีการเสื่อม

ทีมวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี่ชนิดใหม่มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไออนอย่างน้อย 3 เท่า หากใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าก็ทำให้รถวิ่งได้ไกลมากขึ้นต่อการชาร์จไฟแต่ละครั้ง แบตเตอรี่ชนิดใหม่นี้นอกจากจะชาร์จซ้ำได้มากครั้งซึ่งทำให้มีอายุการใช้งานนานกว่าแล้ว ยังชาร์จไฟใหม่ได้เร็วกว่าด้วย (เป็นนาทีแทนที่จะเป็นชั่วโมง)

อีกอย่างหนึ่งเนื่องจากอิเล็กโทรไลต์ทำจากแก้วที่เป็นของแข็งนั้นสามารถทำงานหรือนำไฟฟ้าได้สูงที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส แบตเตอรี่ชนิดนี้จึงใช้งานได้ดีในรถยนต์ที่วิ่งในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศา นี่เป็นครั้งแรกที่แบตเตอรี่ชนิดของแข็งล้วนสามารถทำงานได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส

“ต้นทุน ความปลอดภัย ความจุของพลังงาน อัตราการชาร์จไฟและจ่ายไฟ และอายุการใช้งาน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนโดยแบตเตอรี่ เราเชื่อว่าการค้นพบของเราจะแก้ไขปัญหาหลายๆอย่างที่มีอยู่ในแบตเตอรี่แบบที่ใช้กันในปัจจุบัน” Goodenough กล่าว

Maria Helena Braga นักวิจัยอีกคนหนึ่งได้พัฒนาอิเล็กโทรไลต์แก้วขณะที่เธออยู่ที่มหาวิทยาลัย Porto ประเทศโปรตุเกส เมื่อราวสองปีก่อนเธอได้ทำงานร่วมกับ Goodenough และ Andrew J. Murchison ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส  Braga กล่าวว่า Goodenough ได้ใช้ความเข้าใจในส่วนประกอบและคุณสมบัติของอิเล็กโทรไลต์แก้วที่เป็นของแข็งจนได้ผลลัพธ์เป็นอิเล็กโทรไลต์แบบใหม่ที่ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของแบตเตอรี่แบบใหม่นี้คือสามารถทำจากวัสดุหาง่ายราคาถูก

“อิเล็กโทรไลต์แก้วสามารถใช้โซเดียมที่ราคาถูกแทนลิเธียม โซเดียมสามารถดึงออกมาจากน้ำทะเลซึ่งหาได้ง่ายมาก” Braga กล่าว

Goodenough และ Braga กำลังพัฒนาแบตเตอรี่ของพวกเขาให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในเวลาอันใกล้นี้พวกเขาหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตแบตเตอรี่เพื่อพัฒนาและทดสอบวัสดุใหม่ของพวกเขาในรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เก็บพลังงาน

 

ข้อมูลและภาพจาก  utexas

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *