มีรอยเท้าจำนวน 150 รอยที่สามารถระบุได้ว่ามาจากไดโนเสาร์อย่างน้อย 21 สายพันธ์ุ รวมทั้งรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ ซึ่งมีความยาวถึง 1.7 เมตร
“มีรอยเท้าของไดโนเสาร์นักล่า 5 ชนิด, ไดโนเสาร์คอยาวที่กินพืช ‘Sauropod’ อย่างน้อย 6 ชนิด, ไดโนเสาร์กินพืชเดินด้วยสองเท้า ‘Ornithopod’ 4 ชนิด และมาจากไดโนเสาร์หุ้มเกราะ ‘Armoured Dinosaur’ อีก 6 ชนิด” Steve Salisbury นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กล่าว “ท่ามกลางรอยเท้าเหล่านี้ได้พบหลักฐานยืนยันว่ามีไดโนเสาร์ชนิดมีครีบหลัง ‘Stegosaurus’ อยู่ในออสเตรเลียด้วย และยังมีรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก เป็นรอยเท้าของ Sauropod ที่ยาวถึง 1.7 เมตร”
นักวิจัยได้รับข้อมูลเรื่องรอยเท้าไดโนเสาร์เมื่อหลายปีก่อนจากชนเผ่าพื้นเมือง Goolarabooloo ที่ดูแลพื้นที่บริเวณนี้ รอยเท้าไดโนเสาร์เป็นส่วนหนึ่งในตำนานความเชื่อเก่าแก่ของพวกเขา
ในปี 2008 พื้นที่แห่งนี้ถูกรัฐบาลกำหนดให้เป็นสถานที่พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองคัดค้านและขอให้ผู้เชี่ยวชาญทำวิจัยเกี่ยวกับรอยเท้าไดโนเสาร์เพื่อปกป้องพื้นที่เอาไว้ ในปี 2011 ภูมิภาคคิมเบอร์ลีย์ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกแห่งชาติ และในที่สุดโครงการดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไปในปี 2013
“มันมีความหมายอย่างยิ่ง มันเป็นบันทึกของไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วทางฝั่งตะวันตกของทวีป เป็นไดโนเสาร์ที่ออสเตรเลียในช่วงครึ่งแรกของยุคครีเทเชียสตอนต้น” Salisbury กล่าว
เนื่องจากไม่สามารถวางอุปกรณ์และเครื่องมือไว้ในพื้นที่ในเวลาน้ำขึ้นได้ นักวิจัยจึงใช้โดรนในการทำแผนที่โดยใช้กล้องดิจิตอลและเครื่องสแกนเลเซอร์ พวกเขาใช้เวลามากกว่า 400 ชั่วโมงบนแนวหินโสโครกที่ชายฝั่ง
คุณสามารถดูสภาพพื้นที่และการทำงานของพวกเขาได้ในวิดีโอด้านล่าง
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, sciencealert