“มันเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เป็นวันที่น่าทึ่งสำหรับธุรกิจอวกาศ” Musk กล่าวหลังการปล่อยจรวด “มันหมายถึงคุณสามารถขึ้นบินและบินซ้ำด้วยจรวดขับดันตัวเดิมซึ่งเป็นส่วนที่แพงที่สุดของจรวด นี่จะนำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ของการเดินทางสู่อวกาศ”
SpaceX ใช้เวลา 15 ปีในการแสดงให้เห็นว่าจรวดที่ปกติจะถูกทิ้งไปในทะเลหลังจากการใช้งานเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บคืนกลับมาและนำมาใช้ใหม่ได้อีก
Musk บอกว่าเป้าหมายถัดไปของเขาคือการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง และเป้าหมายนี้อาจจะบรรลุผลก่อนสิ้นปีนี้
“มันมีศักยภาพที่จะลดต้นทุนในการเดินทางสู่อวกาศได้มากกว่า 100 เท่า ถ้าเราทำมันสำเร็จจะหมายถึงมนุษยชาติสามารถกลายเป็นอารยธรรมท่องอวกาศและออกไปอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว นี่คือสิ่งที่เราต้องการสำหรับอนาคต” Musk กล่าว
“เราสร้างประวัติศาสตร์เล็กๆในวันนี้ และได้เปิดประตูสู่ยุคใหม่แห่งการเดินทางสู่อวกาศ” Martin Halliwell ผู้บริหารของ SES เจ้าของดาวเทียมสื่อสารที่ Falcon 9 นำขึ้นสู่วงโคจรในครั้งนี้ กล่าวเสริม
SpaceX นำจรวดที่ส่งขึ้นไปแล้วลงจอดได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2015 และตอนนี้พวกเขาได้ทำสำเร็จไปแล้ว 9 ครั้ง มี 6 ครั้งที่ลงจอดบนเรือบรรทุก อีก 3 ครั้งลงจอดบนพื้นดินที่แหลมคานาเวอรัล Musk บอกว่าพวกเขาอยากลงจอดบนบกทุกครั้ง แต่ในบางภารกิจเหลือเชื้อเพลิงไม่พอจึงต้องลงจอดกลางทะเล
โดยการใช้จรวดซ้ำ SpaceX ตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนลงให้ได้ราว 30% ปัจจุบันราคาค่าโดยสารของ Falcon 9 อยู่ที่ 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่มีการประกาศราคาสำหรับการขึ้นบินโดยจรวดที่ใช้งานซ้ำ
SpaceX มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยีการลงจอดและการนำมาใช้ใหม่ของจรวดไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าหมายที่จะชดเชยเงินลงทุนตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
จรวดถูกคาดหมายว่าจะสามารถขึ้นบินได้ 10 ครั้งโดยที่ไม่ต้องทำอะไรใหม่ และได้ราว 100 ครั้งโดยที่มีการปรับปรุงใหม่ระดับปานกลาง
SpaceX กำลังทำยานอวกาศโดยสารที่มีนักท่องเที่ยวสองคนลงชื่อเข้าร่วมในทริปท่องอวกาศรอบดวงจันทร์ในอนาคตแล้ว เป้าหมายระยะยาวของบริษัทภายใต้การนำของ Elon Musk คือการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร และขนส่งผู้คนและสินค้าไปกลับระหว่างโลกและดาวอังคาร
ข้อมูลและภาพจาก reuters, space