“ยังไม่เคยมียานอวกาศลำใดผ่านเข้าไปในบริเวณนี้มาก่อน” Thomas Zurbuchen เจ้าหน้าที่ของนาซากล่าว “สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากการโคจรอย่างกล้าหาญในครั้งสุดท้ายนี้จะเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของดาวเสาร์และดาวเคราะห์อื่นๆ นี่จะเป็นการค้นพบอย่างแท้จริงในปฏิบัติการจนถึงที่สุด”
ระหว่างการสำรวจดาวเสาร์ยานแคสซีนีมีการค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย รวมทั้งมหาสมุทรทั่วทั้งดาวใต้พื้นของดวงจันทร์เอนเซลาดัส, ทะเลมีเทนบนดวงจันทร์ไททัน และพายุเมฆรูปหกเหลี่ยมที่ขั้วเหนือของดาวเสาร์
เป็นเวลา 20 ปีตั้งแต่ออกเดินทางจากโลกและหลังการสำรวจดาวเสาร์นาน 13 ปี ยานอวกาศพลังนิวเคลียร์ลำนี้เหลือเชื้อเพลิงน้อยเต็มที เดิมนาซาอาจจะส่งยานแคสซีนีไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น บางทีอาจเป็นดาวยูเรนัสหรือดาวเนปจูน แต่ในปี 2010 นาซาได้ตัดสินใจที่จะคงยานแสซีนีอยู่รอบๆดาวเสาร์ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาอาจเจาะข้อมูลวิทยาศาสตร์จากที่นั่นได้มากขึ้น
“การค้นพบของยานแคสซีนีเองที่นำมาซึ่งจุดจบของมัน” Earl Maize วิศวกรผู้ควบคุมภารกิจแคสซีนีกล่าว
เขาหมายถึงการค้นพบมหาสมุทรน้ำเค็มที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกน้ำแข็งของดาวเอนเซลาดัสซึ่งมีการพ่นน้ำขึ้นสู่อวกาศจากบริเวณขั้วใต้ ยานแคสซีนีบินผ่านไอพ่นที่คล้ายม่านหมอกนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2015 ด้วยส่วนประกอบของเอนเซลาดัสทำให้มันเป็นอีกแห่งหนึ่งที่เอื้อต่อการอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิต
“เราไม่อาจเสี่ยงต่อการกระทบโดยไม่ตั้งใจกับดาวบริวารเหล่านั้นโดยเฉพาะดวงจันทร์เอนเซลาดัส เพื่อการสำรวจในอนาคต” Maize กล่าว “ยานแคสซีนีจะต้องจากไปอย่างปลอดภัย เมื่อเราต้องการให้มันอยู่ที่ดาวเสาร์ ทางเลือกเดียวคือการทำลายมันด้วยวิธีการที่อยู่ภายใต้การควบคุม”
แต่การเริ่มต้นของจุดจบของยานแคสซีนีเป็นเหมือนกับภารกิจใหม่อีกอย่างหนึ่ง โดยการใช้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำภารกิจในหลายปีที่ผ่านมา วิศวกรของนาซาวางแผนการบินที่จะให้ประโยชน์ทางวิทยาศาสต์สูงสุดในการส่งยานมุ่งหน้าไปสู่การดำดิ่งเข้าไปยังดาวเสาร์ในวันที่ 15 กันยายน 2017 พวกเขาวางแผนที่จะรีดเอาข้อมูลจากยานให้มากที่สุดจนกว่ามันจะถูกทำลายกลายเป็นจุณ
ยานแคสซีนีจะเปลี่ยนเข้าสู่วงโคจรในฉากสุดท้ายของมันหลังการบินเข้าใกล้ดวงจันทร์ไททันครั้งสุดท้ายในวันที่ 22 เมษายน 2017 แรงโน้มถ่วงของไททันจะเบนเส้นทางการบินของแคสซีนี วงโคจรของมันจะแคบลงซึ่งจะทำให้มันมุ่งหน้าเคลื่อนผ่านช่องว่างระหว่างดาวเสาร์กับขอบวงแหวนชั้นในสุด
และเริ่มจากวันที่ 26 เมษายน 2017 ยานแคสซีนีจะทำการโคจรชุดสุดท้ายสัปดาห์ละรอบรวม 22 รอบ พร้อมๆกับการขยับเข้าใกล้ดาวเสาร์ มันจะเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของช่องว่างที่ไม่มียานลำใดเคยผ่านเข้ามาส่งกลับมายังโลก จนถึงวันที่ 15 กันยายนมันก็จะดำดิ่งลงสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์
“เราคาดว่าช่องว่างจะไม่มีวัตถุที่ใหญ่พอที่จะทำลายยานได้ แต่เรายังป้องกันด้วยการใช้เสาอากาศใหญ่เป็นเกราะบังด้านหน้า” Maize กล่าว “แน่นอนว่ายังมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกหลายอย่าง แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เรากำลังทำการสำรวจอย่างบ้าบิ่นแบบนี้ในช่วงสุดท้ายของภารกิจ”
เมื่อยานแคสซีนีพุ่งลงไปสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ในวันที่ 15 กันยายน มันจะส่งข้อมูลกลับมาจากหลายอุปกรณ์ ที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลส่วนประกอบของบรรยากาศ จนกว่าสัญญาณของมันจะขาดหายไป
“มันจะแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันจะหลอมเหลว มันจะกลายเป็นไอ และมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ที่มันเดินทางออกจากโลกเพื่อจะมาสำรวจเมื่อ 20 ปีก่อน” Maize กล่าว
“มันยากจริงๆที่จะกล่าวลากับยานอวกาศลำเล็กแต่กล้าหาญและเต็มไปด้วยความสามารถที่ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กับเราอย่างมหาศาล” Linda Spilker นักวิทยาศาสตร์ของโครงการแคสซีนีกล่าว “เราบินด้วยกันมาอย่างยาวนาน”
ข้อมูลและภาพจาก nasa, sciencealert