นาซาเผยดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีทุกสิ่งพร้อมมูลสำหรับสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

นักวิจัยของนาซาประกาศว่าพวกเขาได้ค้นพบองค์ประกอบสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตบน ‘เอนเซลาดัส’ ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ นักวิทยาศาสตร์รู้อยู่แล้วว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัสมีน้ำอยู่บนผิวดาวจากการพบปล่องน้ำพุที่พ่นน้ำออกมาที่บริเวณขั้วใต้ แต่ตอนนี้พวกเขาตรวจพบไฮโดรเจนในไอน้ำที่ถูกพ่นออกมาซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้อย่างมากว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆสามารถอาศัยอยู่ได้ในมหาสมุทรของดวงจันทร์เอนเซลาดัส

นักวิจัยระบุว่าโมเลกุลไฮโดรเจนกำลังถูกสร้างขึ้นในมหาสมุทรที่อยู่ใต้เปลือกน้ำแข็งของเอนเซลาดัส แหล่งกำเนิดที่เป็นไปได้มากที่สุดของไฮโดรเจนนี้คือปฏิกิริยาไฮโดรเทอร์มอลระหว่างหินร้อนกับน้ำในมหาสมุทร และนอกจากจะมีน้ำอุ่น, โมเลกุลของสารอินทรีย์ และแร่ธาตุบางชนิดแล้ว เอนเซลาดัสยังผลิตแหล่งพลังงานที่จะช่วยการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์ต่างดาวด้วย

ที่จริงบนโลกของเรามีกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลที่ใกล้ช่องปะทุของภูเขาไฟซึ่งได้ช่วยรักษาระบบนิเวศที่ซับซ้อนของบริเวณนั้นอยู่แล้ว ผลงานวิจัยใหม่นี้ได้แสดงพัฒนาการที่สำคัญในการประเมินสภาพที่จะอยู่อาศัยได้ของดวงจันทร์อันห่างไกลดวงนี้ เป็นการเตรียมการไว้สำหรับโครงการสำรวจในอนาคต

enceladus-hydrogen-2

เอนเซลาดัสเป็นหนึ่งในเทหวัตถุที่น่าสนใจที่สุดของระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 500 กม. ผิวดาวปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่สดใหม่และสะอาดทำให้มันสะท้อนแสงกลับไปเกือบหมด เป็นผลให้ที่ผิวมีอุณหภูมิต่ำมากแค่ −198 °C ในตอนเที่ยง แต่เนื่องจากมันโคจรรอบดาวเสาร์ไม่เป็นวงกลม นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่าแรงดึงดูดที่แตกต่างจากดาวเสาร์ทำให้รูปทรงของมันบิดเบี้ยว และด้วยความบิดเบี้ยวได้ทำให้เกิดความร้อนภายในแกนกลางของมัน ความร้อนที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงที่ไม่สม่ำเสมอนี้อาจเป็นผลให้เอนเซลาดัสยังคงสภาพของน้ำที่เป็นของเหลวไว้ได้ มหาสมุทรที่อยู่ใต้เปลือกน้ำแข็งอาจลึกได้ถึง 60 กม.

มหาสมุทรที่ซ่อนตัวอยู่ซึ่งอาจจะมีอุณหภูมิสูงถึง 90 °C ที่พื้นล่างสุดนี้เป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้เอนเซลาดัสได้รับพิจารณาว่าเป็นสถานที่สำคัญในการค้นหาสิ่งชีวิตต่างดาว

ในปี 2005 ยานแคสซีนีได้ค้นพบไอน้ำที่พวยพุ่งขึ้นจากบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เอนเซลาดัส ส่งเอาไอน้ำและอนุภาคของแข็งจากมหาสมุทรที่อยู่ใต้พื้นขึ้นไปสู่อวกาศ และในปี 2015 นาซาได้บังคับยานแคสซีนีบินผ่านม่านไอน้ำดังกล่าวและเก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์ Ion and Neutral Mass Spectrometer (INMS) ที่ใช้วิเคราะห์ทางเคมี พบว่าไอน้ำที่พุ่งขึ้นประกอบด้วยน้ำราว 98% ไฮโดรเจน 1% และอีก 1% ที่เหลือเป็นโมเลกุลอื่นๆได้แก่คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแอมโมเนีย

enceladus-hydrogen-3

ด้วยองค์ประกอบข้างต้นทำให้มหาสมุทรใต้พื้นดวงจันทร์เอนเซลาดัสอาจเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ได้ เนื่องจากจุลินทรีย์สามารถใช้ก๊าซไฮโดรเจนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในน้ำสร้างพลังงานได้โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า methanogenesis

“แม้เราจะยังไม่สามารถตรวจพบสิ่งมีชีวิต แต่เราได้พบว่ามีแหล่งอาหารสำหรับมัน” Hunter Waite หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

“สิ่งมีชีวิตต้องการองค์ประกอบหลักสามอย่างคือ น้ำ, แหล่งพลังงานสำหรับการเผาผลาญอาหาร และส่วนผสมทางเคมีที่เหมาะสมอันประกอบด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์” นาซากล่าว “เราพบแล้วว่าเอนเซลาดัสมีองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตเกือบครบถ้วน ขาดแต่ฟอสฟอรัสและซัลเฟอร์ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะมีเนื่องจากแกนหินของเอนเซลาดัสมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับอุกกาบาตซึ่งมีสารทั้งสองชนิดอยู่ด้วย”

ถึงตอนนี้หลายคนยอมรับว่าเอนเซลาดัสเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก น่าเสียดายที่อีกไม่นานเราต้องบอกลายานแคสซีนีที่จะพุ่งชนดาวเสาร์ในเดือนกันยายน 2017 เมื่อมันเสร็จสิ้นภารกิจทั้งหมด

นาซาได้ประกาศในวันเดียวกันด้วยว่าพวกเขาได้พบพวยไอน้ำที่พุ่งขึ้นจากพื้นแบบเดียวกันที่ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีด้วย แม้ว่ายังรู้เกี่ยวกับการเกิดของมันไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเพียงข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่ได้พยายามตรวจสอบเกี่ยวกับการเกิดของมหาสมุทรในดาวดวงนี้ รายละเอียดที่ชัดเจนคงต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2020 ที่นาซาจะส่งยาน Europa Clipper ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาต่อไป

 

ข้อมูลและภาพจาก  nasa, gizmodo

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *