ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตต่างดาว

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ที่อาจเป็นสถานที่ดีที่สุดในการค้นหาสิ่งชีวิตนอกโลก ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวแคระแดงที่ชื่อ LHS 1140 อยู่ห่างจากโลกราว 40 ปีแสง ซึ่งในทางดาราศาสตร์แล้วนับว่าไม่ไกลเลย

ดาวเคราะห์ที่ค้นพบใหม่นี้ชื่อว่า LHS 1140b จัดอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์ที่เรียกว่า ซูเปอร์เอิร์ธ (Super Earth) ซึ่งหมายถึงดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลกแต่ไม่เกิน 10 เท่า  LHS 1140b มีมวลมากกว่าโลก 7 เท่า แต่ใหญ่กว่าเพียง 1.4 เท่า ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความหนาแน่นที่สูงกว่า อาจมีแกนกลางเป็นเหล็กความหนาแน่นสูง

แต่ที่ทำให้ LHS 1140b น่าสนใจไม่ใช่เพราะมวลหรือขนาดของมัน แต่เป็นวงโคจรที่อยู่ในเขตที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (Habitable Zone) และอาจจะมีน้ำอยู่บนพื้นผิวด้วย

ดาวแม่ของ LHS 1140b เป็นดาวแคระแดงในกระจุกดาว Cetus มีขนาดเล็กกว่าและร้อนน้อยกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก ดังนั้นแม้ว่า LHS 1140b จะอยู่ใกล้กับดาวแม่มาก แค่หนึ่งในสิบของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์เท่านั้น มันก็ยังได้รับแสงจากดาวแม่เพียงครึ่งหนึ่งของแสงที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ เรียกได้ว่ามันอยู่ตรงกลางของเขตอาศัยได้เลยทีเดียว

“นี่คือดาวเคราะห์นอกโลกที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา” Jason Dittmann หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน กล่าว “เราพอจะมีหวังสำหรับเป้าหมายที่ดีกว่าในการค้นหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวิทยาศาสตร์ นั่นคือการหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก”

“สภาพแวดล้อมของดาวแคระแดงดวงนี้มีความเหมาะสมมาก” Nicola Astudillo-Defru นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ กล่าว “LHS 1140 หมุนช้ากว่าและปล่อยรังสีความเข้มข้นสูงออกมาน้อยกว่าดาวฤกษ์มวลต่ำอื่นๆ”

นั่นเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าความร้อนและแสงจากดาวฤกษ์ไม่สูงเกินไปจนน้ำซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์ได้

exoplanet-LHS1140b-2

นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบ HS 1140b ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่ติดอุปกรณ์พิเศษ HARPS instrument ที่หอดูดาวลาซียา ประเทศชิลี และสังเกตการณ์ต่อเนื่องจนยืนยันการค้นพบได้

ทีมวิจัยหวังว่า ดาวเคราะห์ LHS 1140b ที่มีอายุราว 5 พันล้านปีจะมีชั้นบรรยากาศซึ่งบางทีอาจจะได้มาจากการจับไอน้ำที่เกิดจากทะเลแมกมาที่เดือดพล่านอยู่บนพื้นผิวตอนที่มันอายุยังน้อย

เพื่อตรวจพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่างๆ พวกเขาตั้งใจจะศึกษาดาวเคราะห์นี้เพิ่มเติมด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และกล้องโทรทรรศน์ยักษ์ใหญ่ตัวใหม่ของหอดูดาวยุโรปตอนใต้ (ESO) ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2024

แน่ละ LHS 1140b ไม่ได้เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพียงดวงเดียวที่สร้างความตื่นเต้นให้กับนักดาราศาสตร์ เมื่อต้นเดือนนี้เองที่นักดาราศาสตร์ได้ประกาศการตรวจพบชั้นบรรยากาศที่ซูเปอร์เอิร์ธอีกดวงหนึ่งชื่อ Gliese 1132b ที่อยู่ห่างจากโลก 39 ปีแสง

นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ก็มีการค้นพบระบบดาว TRAPPIST-1 ที่ประกอบด้วยดาวเคราะห์ 7 ดวง ห่างจากโลกราว 40 ปีแสงเช่นกัน ได้สร้างความฮือฮาไปแล้วทั่วโลก และก่อนหน้านั้นไม่นานก็มีการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลก Proxima B ที่อยู่ใกล้โลกมากแค่เพียง 4.2 ปีแสงเท่านั้น

“ระบบดาว LHS 1140  อาจเป็นเป้าหมายที่สำคัญสำหรับกำหนดลักษณะเฉพาะของดาวเคราะห์ในเขตอาศัยได้ในอนาคตยิ่งกว่า Proxima b หรือ TRAPPIST–1 เสียอีก” ทีมวิจัยกล่าว “มันเป็นปีที่พิเศษสำหรับการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจริงๆ”

 

ข้อมูลและภาพจาก  eso, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *