10 ดวงจันทร์ที่แปลกประหลาดและน่าสนใจที่สุดในระบบสุริยะ

ดวงจันทร์บริวารในระบบสุริยะของเรามีเกือบ 200 ดวงที่โคจรรอบดาวเคราะห์ทั้งแปดและดาวเคราะห์แคระทั้งห้า ในบรรดาดวงจันทร์เหล่านั้นบางดวงก็มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับโลก บางดวงมีลักษณะแปลกประหลาดชนิดคาดไม่ถึง หากได้รู้จักจะพบว่ามีดวงจันทร์ที่โดดเด่นน่าสนใจศึกษาเรียนรู้มากมายเลยทีเดียว

และต่อไปนี้คือ 10 ดวงจันทร์ที่แปลกประหลาดและน่าสนใจที่สุดในระบบสุริยะ

1. ยูโรปา (Europa)

ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยลายเส้นบนผิวดาวตัดไขว้ไปมาคล้ายร่างแหครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ พื้นผิวเป็นน้ำแข็งมีความราบเรียบที่สุดในระบบสุริยะ แทบจะไม่มีภูเขาหรือหลุมอุกกาบาต ใต้เปลือกน้ำแข็งหนาเป็นมหาสมุทรใหญ่ผืนเดียวเต็มทั้งดวง มีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำของทุกมหาสมุทรบนโลกรวมกัน ใกล้ขั้วใต้มีไอน้ำพวยพุ่งขึ้นสู่อวกาศสูง 200 กม. ยูโรปาเป็นสถานที่ที่มีแนวโน้มจะมีสิ่งมีชีวิตนอกโลกอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งในระบบสุริยะ

europa-1ยูโรปา (Europa)

 

europa-2ภาพจำลองสภาพบนดวงจันทร์ยูโรปาที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นสู่อวกาศ

 

2. ไททัน (Titan)

ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีลักษณะคล้ายกับโลกมากที่สุด เป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีชั้นบรรยากาศหนาแน่นซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจนเป็นหลักแบบเดียวกับโลก มีเมฆมีหมอก มีลมและฝน มีฤดูกาล บนพื้นผิวดาวก็คล้ายกับโลกมาก มีภูเขา ภูเขาไฟ (น้ำแข็ง) ทะเลทรายและเนินทราย เป็นดาวดวงเดียวนอกจากโลกที่มีของเหลวบนผิวดาว มีแม่น้ำ ทะเลสาบ และทะเล เพียงแต่ว่าของเหลวไม่ใช่น้ำแต่เป็นมีเทน วัฏจักรของมีเทนบนไททันคล้ายกับวัฏจักรของน้ำบนโลกมาก

titan-1ไททัน (Titan)

 

titan-2ภาพจำลองสภาพบนดวงจันทร์ไททันที่มีทะเลสาบมีเทน

 

3. ไอโอ (Io)

ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นทั่วทุกพื้นที่กว่า 400 ลูก บางลูกพ่นไอของกำมะถันขึ้นสูงถึง 500 กม. เป็นวัตถุที่มีการเปลี่ยนทางธรณีวิทยามากที่สุดในระบบสุริยะ ผิวของไอโอเคลื่อนตัวขยับขึ้นลงเป็น 100 เมตรด้วยแรงดึงดูดของดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารอื่น ผิวของไอโอมองเห็นเป็นจุดแต้มนับร้อยจุดซึ่งเป็นภูเขาที่ยกตัวขึ้นด้วยแรงกดดันมหาศาลที่เปลือกดาว ภูเขาบางลูกสูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์

io-1ไอโอ (Io)

 

io-2ภาพจำลองสภาพบนดวงจันทร์ไอโอที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น

 

4. เอนเซลาดัส (Enceladus)

ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ผิวดาวปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่สดใหม่และสะอาดทำให้มันสะท้อนแสงกลับไปเกือบหมด เป็นผลให้ที่พื้นผิวมีอุณหภูมิต่ำมากแค่ −198 °C ในตอนเที่ยง บริเวณขั้วใต้มีภูเขาไฟน้ำแข็งกว่า 100 ลูกพ่นไอน้ำและสารอื่นที่มีส่วนประกอบคล้ายดาวหางขึ้นสู่อวกาศ ไอน้ำบางส่วนตกกลับลงมากลายเป็นหิมะ ที่เหลือกระจายสู่อวกาศกลายเป็นส่วนประกอบวงแหวนของดาวเสาร์ ใต้เปลือกน้ำแข็งเป็นมหาสมุทรน้ำเค็ม เอนเซลาดัสเป็นสถานที่นอกโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในระบบสุริยะ

enceladus-1เอนเซลาดัส (Enceladus)

 

enceladus-2ภาพจำลองสภาพบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสตอนอาทิตย์ตก

 

5. แกนีมีด (Ganymede)

ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีที่เป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต พื้นผิวมีสองแบบต่างกัน บริเวณที่เป็นสีมืดคล้ำเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตกินพื้นที่หนึ่งในสาม ส่วนที่เหลือจะสว่างกว่ามีร่องและสันเนินตัดขวางไปมา เป็นดวงจันทร์ดวงเดียวที่มีสนามแม่เหล็กซึ่งอาจเกิดจากการไหลเวียนของเหล็กเหลวในแกนกลาง มีมหาสมุทรซ่อนลึกใต้ผิวที่เป็นหินและน้ำแข็ง แกนีมีดเป็นอีกแห่งหนึ่งที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

ganymede-1แกนีมีด (Ganymede)

 

ganymede-2ภาพแสดงออโรราที่เกิดจากสนามแม่เหล็กของดวงจันทร์แกนีมีด

 

6. ไทรทัน (Triton)

ดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน หนึ่งเดียวในบรรดาดวงจันทร์สำคัญในระบบสุริยะที่โคจรในทิศทางตรงข้ามกับการหมุนรอบตัวเองของดาวแม่ เป็นอีกที่ที่มีก๊าซไนโตรเจนในบรรยากาศนอกเหนือจากโลกและไททัน เป็นดาวที่เย็นที่สุดในระบบสุริยะ อุณหภูมิที่ผิวแค่ -235 °C สภาพภูมิประเทศเป็นหุบเหวและร่องลึก ซีกตะวันตกมีพื้นที่บางส่วนมีพี้นผิวเหมือนผิวแคนตาลูป พื้นผิวส่วนใหญ่เป็นไนโตรเจนที่เย็นจนแข็ง เปลือกดาวก็เป็นน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟน้ำแข็งที่พ่นน้ำพุแรงดันสูง ประกอบด้วยไนโตรเจนเหลว มีเทนแข็ง และฝุ่นที่เย็นจัดขึ้นไปกว่า 8 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาว

triton-1ไทรทัน (Triton)

 

triton-2ภาพจำลองสภาพบนดวงจันทร์ไทรทันที่มีน้ำพุแรงดันสูงพ่นไนโตรเจนเหลว มีเทนแข็ง และฝุ่นเย็นจัดขึ้นสู่บรรยากาศ

 

7. ไมมัส (Mimas)

ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 400 กม. เป็นวัตถุท้องฟ้าที่เล็กที่สุดที่มีรูปร่างทรงกลมด้วยแรงโน้มถ่วงของตัวเอง ที่โดดเด่นเห็นชัดคือหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ถึงหนึ่งในสามของเส้นผ่าศูนย์กลางของมัน ทำให้ไมมัสคล้ายกับดาวมรณะ (Death Star) ในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์อย่างมาก และน่าสนใจที่บังเอิญไมมัสถูกค้นพบหลังจากสตาร์วอร์ออกฉายครั้งแรกแค่ 3 ปีเท่านั้น แถมบริเวณพื้นที่ร้อนในแผนที่อุณหภูมิของไมมัสยังมีรูปร่างเหมือนกับแพคแมนอย่างเหลือเชื่อ

mimas-1ไมมัส (Mimas) กับ ดาวมรณะ (Death Star)

 

mimas-2ไมมัสกับแผนที่อุณหภูมิ สีเหลืองคือบริเวณที่ร้อน

 

8. ไอแอพิตัส (Iapetus)

ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ มีลักษณะแปลกประหลาดน่าฉงน มีแนวสันนูนสูงเกือบตลอดแนวเส้นศูนย์สูตร บางที่สูงกว่ายอดเขาเอเวอร์เรส 2 เท่า ทำให้มันดูคล้ายกับเมล็ดวอลนัทยักษ์ที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ อีกอย่างคือความพิสดารเรื่องสีพื้นผิว ซีกหนึ่งสว่างขาวโพลนสะท้อนแสงราวกับหิมะ แต่อีกซีกหนึ่งกลับดำมืดอย่างกับถูกเทด้วยยางมะตอย ด้วยความที่มีสีขาวดำครึ่งซีกแบบนี้มันจึงได้รับฉายาว่า ดวงจันทร์หยิน-หยาง

iapetus-1ไอแอพิตัส (Iapetus)

 

iapetus-2แนวสันนูนของไอแอพิตัสที่ทำให้มันดูคล้ายกับเมล็ดวอลนัทยักษ์

 

9. เอพิมีเทียสและเจนัส (Epimetheus and Janus)

ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ เป็นดวงจันทร์คู่แฝดที่โคจรไปพร้อมๆกันรอบดาวเสาร์ วงโคจรของพวกมันเกือบจะเหมือนกัน รัศมีวงโคจรต่างกันเพียง 50 กม.เท่านั้น ที่น่าประหลาดใจคือมันมีการสลับวงโคจรกันด้วย เปลี่ยนจากอยู่วงนอกไปอยู่วงในเปลี่ยนจากวงในไปอยู่วงนอกกันทุกๆ 4 ปี ช่วงที่อยู่ใกล้กันมากที่สุดห่างเพียง 9,900 กม.เท่านั้น แทบจะเรียกได้ว่าอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กันตลอดเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าพวกมันเคยเป็นดาวดวงเดียวกันมาก่อน

epimetheus-and-janus-1เอพิมีเทียสและเจนัส (Epimetheus and Janus) ขณะโคจรผ่านกัน

 

epimetheus-and-janus-2เอพิมีเทียสและเจนัสสลับวงโคจรกันทุก 4 ปี

 

10. คัลลิสโต (Callisto)

ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี ขนาดใหญ่เกือบเท่าดาวพุธ มีวงโคจรห่างจากดาวแม่มากที่สุด เป็นดวงจันทร์ที่มีหลุมอุกกาบาตมากมายนับไม่ถ้วน มากที่สุดในระบบสุริยะ แต่น่าแปลกที่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของมันเลยนานถึง 4,000 ล้านปีแล้ว หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์คัลลิสโตหนาแน่นมากเต็มทุกพื้นที่ ขนาดว่าถ้าจะมีรอยใหม่ก็ต้องทับรอยเก่า บางที่หลุมอุกกาบาตซ้อนอยู่ในหลุมอุกกาบาตอีกทีก็มี

callisto-1คัลลิสโต (Callisto)

 

callisto-2หลุมอุกกาบาตบนดวงจันทร์คัลลิสโตหนาแน่นเต็มทุกพื้นที่

 

ข้อมูลและภาพจาก  wikipedia, nasa

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *