ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย ได้ร่วมกันไขปริศนาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคุณสมบัติประหลาดของมันจนกระจ่าง
ในงานวิจัยใหม่นี้นักวิจัยได้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Integrated Photoelasticity ที่คิดค้นโดย Hillar Aben นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยทาลลินน์ซึ่งร่วมในงานวิจัยนี้ด้วย ด้วยเทคนิคนี้ทำให้สามารถรู้ลักษณะการกระจายของแรงที่ซับซ้อนของลูกอ๊อดแก้ว ซึ่งจะแสดงออกมาเป็นแถบสีรุ้งเมื่อมองผ่านฟิลเตอร์โพลาไรซ์ คล้ายกับเทคนิคที่ใช้ในการสร้างรูปสามมิติของเครื่องทีซีสแกนในโรงพยาบาล และสามารถหาค่าแรงอย่างละเอียดได้จากลักษณะรูปของแถบสี
การวิจัยครั้งนี้เป็นการขยายต่อจากงานวิจัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนโดย Srinivasan Chandrasekar อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู และ Munawar Chaudhri นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี 1994 นักวิจัยใช้ภาพถ่ายความเร็วสูงมากเกือบ 1 ล้านเฟรมต่อวินาทีวิเคราะห์การแตกกระจายของลูกอ๊อดแก้ว พบว่ารอยร้าววิ่งจากหางไปที่หัวด้วยความเร็วกว่า 6,400 กม./ชม. ซึ่งอธิบายการแตกระเบิดของลูกอ๊อดแก้วเมื่อโดนขลิบหาง
งานวิจัยปี 1994 เน้นไปที่หางซึ่งทำให้มันเป็นวัตถุที่เปราะอย่างยิ่ง แต่งานวิจัยใหม่ได้เน้นไปที่หัวกับคุณสมบัติที่แข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อของมัน
ผลงานวิจัยใหม่พบว่าผิวนอกของหัวลูกอ๊อดแก้วมีแรงอัดที่สูงมาก ผิวด้านนอกที่หนาราว 10% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวลูกอ๊อดแก้วมีแรงอัดสูงมากถึง 700 MPa หรือเกือบ 7,000 เท่าของความดันบรรยากาศ นี่คือสิ่งที่ทำให้มันแข็งแกร่งมาก
เมื่อหยดแก้วหลอมเหลวลงไปในน้ำ ผิวด้านนอกจะเย็นเร็วกว่าด้านในมาก ผิวด้านนอกที่แข็งตัวก่อนอย่างรวดเร็วจะหดตัวเกิดแรงอัดขึ้นอย่างมหาศาล ส่วนเนื้อแก้วด้านในที่แข็งตัวทีหลังเกิดเป็นแรงดึง ทำให้ลูกอ๊อดแก้วมีโซนแรงอัดอยู่บริเวณผิวนอก และโซนแรงดึงอยู่ภายใน
การจะทำให้ลูกอ๊อดแก้วแตกได้จะต้องให้เกิดรอยร้าวไปให้ถึงโซนแรงดึง เนื่องจากผิวนอกของหัวลูกอ๊อดแก้วมีแรงอัดขนาดมหาศาลแม้จะโดนกระแทกอย่างแรงก็เกิดรอยร้าวขึ้นได้ยากมาก อีกอย่างหนึ่งรอยร้าวที่เกิดขึ้นมีแนวโน้วที่จะวิ่งไปตามความยาว มันจึงกินลึกลงไปไม่ถึงโซนแรงดึง ดังนั้นเมื่อเอาค้อนทุบหัวลูกอ๊อดแก้วมันจึงไม่แตก
แต่ถ้าหางของลูกอ๊อดแก้วถูกขลิบออกจะมีรอยร้าวถึงโซนแรงดึงด้านในทันที ลูกอ๊อดแก้วจึงแตกระเบิดกระจายอย่างรวดเร็ว
“ผลงานวิจัยได้อธิบายอย่างชัดเจนแล้วว่าทำไมหัวลูกอ๊อดแก้วจึงแข็งแกร่งได้มากขนาดนั้น” Chaudhri กล่าว “ผมคิดว่าตอนนี้เราไขปริศนาเรื่องนี้ได้หมดแล้ว อย่างไรก็ตามคำถามใหม่ๆก็อาจจะปรากฏขึ้นมาได้อีกอย่างไม่คาดฝัน”
ข้อมูลและภาพจาก purdue.edu, phys.org