การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่อินเดียจะขึ้นไปถึง 8.8 กิกะวัตต์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นแบบพรวดพราดถึง 76% จากปี 2016 ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอันดับสามของโลก รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา
มีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ราคาไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่อินเดียลดลงรุนแรง อย่างแรกคือแผ่นโซลาร์เซลล์ที่เป็นต้นทุนหลักของการสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มีราคาลดลง 30% ตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณต้นทุนซึ่งส่งผลให้ราคาขายไฟฟ้าลดต่ำลง
สาเหตุอีกอย่างหนึ่งมาจากการที่นายนเรนทระ โมทีนายกรัฐมนตรีของอินเดียได้ผลักดันนโยบายรับประกันการจ่ายเงินค่าไฟฟ้าให้กับผู้ผลิต ปีที่แล้ว SECI บริษัทรับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศมีการทำข้อตกลงสามฝ่ายกับรัฐบาลกลาง,รัฐบาลแห่งรัฐ และธนาคารในการคุ้มครองการผิดสัญญาการจ่ายเงิน อินเดียมีชื่อเสียงไม่ดีเกี่ยวกับการจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าล่าช้า
แต่สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ลดต่ำลงอย่างมโหฬารเนื่องมาจากการแข่งขันตัดราคากันอย่างบ้าคลั่ง ในการประมูลสำหรับกำลังการผลิต 750 เมกะวัตต์ที่โซลาร์ฟาร์ม Bhadla ในเดือนเมษายน มีผู้เข้าร่วมประมูลถึง 33 ราย ซึ่งต่างก็หั่นราคากันลงมาเพื่อชนะการประมูล
อย่างไรก็ดีมีผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลว่าราคาไฟฟ้าที่ต่ำขนาดนี้อาจทำให้หลายโครงการไปไม่รอด Rupesh Sankhe นักวิเคราะห์อาวุโสที่บริษัทโบรกเกอร์ Reliance Securities บอกว่าถ้าผู้ผลิตต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน 14% ราคาขายไฟฟ้าจะต้องอยู่ในช่วง 4.5 – 5.0 รูปีต่อยูนิต
“ถ้าราคาต่ำกว่า 3 รูปีต่อยูนิตผลตอบแทนจะเป็นศูนย์” Sankhe กล่าว “พวกเขาจะทำไปเพื่ออะไรในเมื่อมันไม่มีกำไร”
ข้อมูลและภาพจาก qz, inhabitat