นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นหาวิธีตรวจเลือดที่สามารถให้ผลแบบเดียวกันแต่ไม่ต้องมีการผ่าตัด และสามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
เทคนิคใหม่เป็นการตรวจเลือดอย่างละเอียดเพื่อหาชิ้นส่วนของ DNA ที่ปล่อยออกมาโดยเนื้องอก เรียกได้ว่าเป็นวิธี ‘liquid biopsy’ ที่จะเป็นการยกระดับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งครั้งใหญ่
การตรวจหามะเร็งในเลือดเป็นไปได้หากนักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจพบเศษเล็กๆของ DNA ที่เนื้องอกปล่อยเข้ามาในกระแสเลือด ที่เรียกกันว่า circulating tumour DNA หรือ ctDNA
ตลอดหลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจจับ ctDNA โดยใช้ตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็ง
GRAIL บริษัทที่ได้รับทุนวิจัยตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้นจากอภิมหาเศรษฐี Jeff Bezos เจ้าของ Amazon.com และ Bill Gates เจ้าของ Microsoft ได้นำเสนองานวิจัยล่าสุดในที่ประชุม 2017 American Society of Clinical Oncology (ASCO) ว่าพวกเขาสามารถตรวจพบ ctDNA ได้แล้ว
“มันเป็นก้าวแรกที่สำคัญ” Pedram Razavi หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “การค้นพบของเราแสดงให้เห็นว่าการหาลำดับเบสของ ctDNA ที่เข้มข้นสูงนั้นเป็นไปได้ และอาจให้ข้อมูลที่มีค่ามหาศาลต่อการตัดสินใจทางการแพทย์ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวิเคราะห์”
ทีมวิจัยใช้ตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายจำนวน 124 ตัวอย่าง ตรวจหาการกลายพันธุ์ระดับยีนส์ 508 ชนิด อ่านค่ารหัสพันธุกรรมจำนวน 60,000 ครั้ง ด้วยวิธีนี้ทำให้ได้ข้อมูลมากกว่าวิธีอื่นเป็น 100 เท่า
ในการตรวจหา DNA ของเนื้องอกที่อยู่ในเลือด ทีมวิจัยใช้การเปรียบเทียบผลจากตัวอย่างเนื้อเยื่อกับสารพันธุกรรมที่ได้จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยคนเดียวกัน
“การวิเคราะห์ร่วมกันระหว่าง cell-free DNA กับ DNA ของเม็ดเลือดขาวทำให้เราสามารถแยกแยะ DNA ของเนื้องอกได้ดีขึ้น และการอ่านค่ารหัสพันธุกรรมอย่างละเอียดยังช่วยให้เราค้นพบเศษชิ้นส่วน DNA ของเนื้องอกที่หาพบยากได้สำเร็จ” Razavi กล่าว
ใน 89% ของผู้ป่วย พวกเขาพบการกลายพันธุ์อย่างน้อย 1 ชนิดทั้งในเนื้อเยื่อจากเนื้องอกและในเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีการตรวจพบแบบนี้มากที่สุดถึง 97%
ประโยชน์สำคัญของการตรวจหา ctDNA คือโอกาสที่จะตรวจพบมะเร็งได้เร็วกว่าวิธีตัดชิ้นเนื้อเป็นปี ที่สำคัญสามารถตรวจพบก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
แม้ว่าผลงานวิจัยจะให้ความหวังต่อผู้คนอย่างสูง แต่ทีมงานยังจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมอีกมากก่อนที่เทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นเครื่องมือตรวจหามะเร็งจากการตรวจร่างกายตามปกติ
ข้อมูลและภาพจาก sciencealert, reuters