คนที่น้ำหนักเกินหมายถึงคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index – BMI) ระหว่าง 25.0 ถึง 29.9 และคนที่เป็นโรคอ้วนหมายถึงคนที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30.0 ขึ้นไป การหาค่าดัชนีมวลกายทำได้โดยเอาน้ำหนักตัว (กก.) หารด้วยส่วนสูง (ม.) ยกกำลังสอง หรือ BMI = W/H^2
นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลของประชากร 68.5 ล้านคนระหว่างปี 1980 ถึง 2015 เพื่อสำรวจแนวโน้มอัตราการมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วน พบว่ามีคนเป็นโรคอ้วนเพิ่มจากปี 1980 เป็นสองเท่าใน 73 ประเทศ และมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศอื่นเกือบทั้งหมด
ผู้หญิงเป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้ชายในทุกกลุ่มของอายุซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจก่อนหน้านี้ เปอร์เซ็นต์การเป็นโรคอ้วนในเด็กมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่อัตราการเพิ่มขึ้นกลับมีมากกว่าเป็นสัญญาณว่าจะมีความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคตหากไม่มีการแก้ไข
ในการพิจารณารายประเทศจากทั้งหมด 195 ประเทศ พบว่าสหรัฐอเมริกามีอัตราการเป็นโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่นมากที่สุดที่ 13% ส่วนโรคอ้วนในผู้ใหญ่ประเทศที่นำมาเป็นอันดับหนึ่งคืออียิปต์ที่ 35%
ในแง่ของจำนวนของคนที่เป็นโรคอ้วนในวัยเด็ก ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอย่างจีนและอินเดียครองอันดับหนึ่งและสองด้วยจำนวน 15.3 ล้านคนและ 14.4 ล้านคนตามลำดับ แต่สำหรับจำนวนที่เป็นโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่สหรัฐอเมริกากลับแซงมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 79.4 ล้านคน อันดับสองเป็นจีนที่ 57.3 ล้านคน
ประเทศที่มีอัตราการเป็นโรคอ้วนต่ำที่สุดคือบังคลาเทศและเวียดนาม มีแค่ 1% เท่านั้น
การมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมีผลต่อทั้งระดับความดัน คลอเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือด นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และรวมไปถึงโรคมะเร็งอีกหลายชนิด ในปี 2015 มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวพันกับการมีน้ำหนักส่วนเกินด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด 2.7 ล้านคน ผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานตามมาเป็นอันดับสอง
การเพิ่มขึ้นของคนอ้วนมีในทุกประเทศ ไม่เกี่ยวกับระดับรายได้หรือความร่ำรวย แต่สาเหตุมาจากสองเรื่องหลัก เรื่องแรกคือเรื่องอาหาร การพัฒนาเรื่องระบบตลาดและการจัดหาอาหารมาให้บริการ ทำให้ผู้คนเข้าถึงและหาซื้ออาหารต่างๆได้อย่างสะดวกและราคาไม่แพง คนจึงกินอาหารกันมากเกินไปจนน้ำหนักขึ้น
เรื่องที่สองคือมีการออกกำลังกายน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง ลักษณะของสังคมและการใช้ชีวิตในเมืองมีส่วนที่ทำให้โอกาสในการออกกำลังกายน้อยลงแม้จะไม่ใช่สาเหตุสำคัญก็ตาม
สำหรับประเทศไทยดูเหมือนว่าผู้ชายจะมีเปอร์เซ็นต์คนอ้วนไม่มากเท่าไร แต่ผู้หญิงมีเปอร์เซ็นต์คนอ้วนเริ่มจะสูงแล้ว แล้วคุณล่ะสำรวจตัวเองบ้างหรือยังว่าอยู่ในกลุ่ม 30% หรือ 70% ?
ข้อมูลและภาพจาก cnn, nejm.org