หนังสือสัญญานี้ได้เซ็นกันไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมแต่เพิ่งมาเปิดเผยในสัปดาห์นี้ เป็นสัญญาการร่วมมือกันระหว่างบริษัท HTT กับหน่วยงานสำคัญของเกาหลีใต้ได้แก่กรมนวัตกรรมและสาธารณูปโภค, สถาบันวิศวกรรมโยธาและอาคาร (KICT) และมหาวิทยาลัยฮันยาง
รายละเอียดของสัญญาประกอบด้วยการก่อสร้างระบบทดสอบอย่างเต็มรูปแบบ, การอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีระบบท่อสูญญากาศ ระบบการยกตัว ระบบขับเคลื่อน และระบบแบตเตอรี่ของ HTT รวมทั้งร่วมพัฒนามาตรฐานและข้อบังคับด้านความปลอดภัย ในสัญญาระยะยาวนี้มีการเตรียมการสร้างระบบขนส่ง Hyperloop ให้กับเกาหลีใต้ หนึ่งในนั้นคือ HyperTube Express เส้นทางขนส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงโซลกับเมืองปูซานด้วยเวลาน้อยกว่า 20 นาทีที่ปัจจุบันใช้เวลาขับรถนาน 3 ชั่วโมง
HTT อาจจะมีกำหนดที่จะสร้าง Hyperloop เป็นแห่งแรกของโลก แต่มันยังไม่แน่นักว่าจะเป็นแห่งแรกจริงๆ เพราะ Arrivo และ Hyperloop One ก็กำลังเดินหน้าอย่างเต็มสตีมในแผนงานของพวกเขาเช่นกัน และดูเหมือนจะก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง ทั้งการสร้างรางทดสอบขนาดเต็มที่เนวาดาและการทำความตกลงกับรัสเซีย ฟินแลนด์ และดูไบในการสำรวจความเป็นไปได้ของระบบ Hyperloop ในประเทศเหล่านั้น
“เราเป็นบริษัทแรกที่กำลังทำ Hyperloop ให้เป็นจริง การได้เห็นรัฐบาลอย่างเกาหลีใต้ลงมือทำระบบนี้อย่างจริงจังเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” Dirk Ahlborn CEO ของ HTT กล่าว “ในฐานะที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีเรากำลังทำให้การพัฒนาของเราพร้อมสำหรับทุกกลุ่มที่สนใจในเทคโนโลยีนี้ผ่านทางการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีและทำให้มั่นใจว่ามีมาตรฐานที่แลกเปลี่ยนกันได้ทั่วโลก”
“การเดินทางทางท่อจะเปลี่ยนวิถีชีวิตและการสัญจรของผู้คน มันมีโอกาสที่จะเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน” Tai Sik Lee ประธานของ KICT กล่าว “เกาหลีใต้สานต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยการนำเทคโนโลยีนี้มาสู่การดำรงชีวิต รัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้แล้ว เราได้ทำวิจัยในเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย และตอนนี้ก็พร้อมที่จะลงมือทำแล้ว”
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, neowin