ในกฎหมายมีการจัดตั้งสภานโยบายสภาพอากาศที่เป็นองค์กรอิสระเรียกว่า Climate Policy Council และจะต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งจะต้องปรับปรุงกันทุกๆ 4 ปี
สวีเดนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเป้าหมายเรื่องการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2020 ก่อนกำหนดถึง 8 ปีเต็ม ปัจจุบันสวีเดนผลิตไฟฟ้า 83% จากพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานน้ำด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ที่เหลือเป็นการผลิตด้วยพลังงานลมราว 10% และพลังงานอื่นๆอีกแค่ 7% หมายความว่าในเรื่องการผลิตไฟฟ้าพวกเขาทำได้ดีเยี่ยมสุดยอดอยู่แล้ว
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สวีเดนจึงต้องมุ่งไปที่การลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่งด้วยการเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและรถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น พวกเขามีแผนที่จะลดการปล่อยคาร์บอนภายในประเทศให้ได้อย่างน้อย 85% และชดเชยการปล่อยคาร์บอนส่วนที่เหลือโดยการปลูกต้นไม้กับการลงทุนในโครงการที่ยั่งยืนในประเทศอื่น
การลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่งเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควรเพราะมีการต่อต้านจากมวลชน แต่ที่สวีเดนก็มีแรงสนับสนุนนโยบายด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากเป็นพิเศษ
“ผมคิดว่ามีโอกาสสูงที่พวกเขาจะทำได้สำเร็จ” Femke de Jong ผู้อำนวยการนโยบายที่องค์กรเอ็นจีโอ Carbon Market Watch กล่าวและ de Jong หวังว่าประเทศยุโรปอื่นจะเร่งไปสู่จุดหมายของพวกเขาด้วย “การที่โดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ทำให้สหภาพยุโรปร่วมมือกันมากกว่าที่เคยเป็นและต้องการแสดงความเป็นผู้นำต่อสายตาชาวโลก”
แม้ว่าสวีเดนจะเป็นผู้นำในการปล่อยคาร์บอน แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับถูกกล่าวหาร่วมกับฝรั่งเศส ฟินแลนด์ และออสเตรียว่าพยายามผ่อนปรนกฎระเบียบเรื่องการเผาไม้และการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องการปล่อยคาร์บอนด้วยเช่นกัน
“เราต้องทำให้แน่ใจว่าสวีเดนได้แสดงความเป็นผู้นำในเรื่องการดูแลป่าไม้เหมือนกับที่ได้แสดงในเรื่องการปล่อยคาร์บอน” de Jong กล่าว
ข้อมูลและภาพจาก newscientist, climatechangenews