ดังนั้นจีนจึงได้ทุ่มเทงบประมาณการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการอัดฉีดเงินทุน 102.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปในเรื่องพลังงานหมุนเวียนในปี 2016 ซึ่งมากกว่าหนึ่งในสามของทั้งโลก ประเทศจีนตอนนี้กำลังติดตั้งแผ่นโซลาร์เซลล์ขนาดเท่าสนามฟุตบอลในทุกๆชั่วโมง และติดตั้งกังหันลม 2 ตัวในทุกๆชั่วโมง
สำหรับมณฑลชิงไห่ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยราว 6 ล้านคนได้มุ่งเน้นไปที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำเป็นพิเศษ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดราว 23.4 กิกะวัตต์ มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำรวมกันราว 83% ของทั้งหมด มณฑลชิงไห่เป็นที่ตั้งของเขื่อน Laxiwa ที่ใหญ่ติดอันดับโลก และ Longyangxia Dam Solar Park ซึ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มใหญ่ที่สุดในโลกมีกำลังการผลิตถึง 850 เมกะวัตต์
การไฟฟ้าของจีน (The State Grid Corporation) มองเห็นศักยภาพจึงได้ทดลองผลิตไฟฟ้าสำหรับมณฑลชิงไห่ทั้งหมดด้วยพลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียวในช่วงระหว่างวันที่ 17 – 23 มิถุนายน อย่างต่อเนื่องรวม 7 วัน ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 1.1 พันล้านยูนิต เทียบเท่ากับการผลิตจากถ่านหิน 535,000 ตัน โดยการผลิตไฟฟ้าในช่วง 7 วันนี้มาจากพลังงานน้ำ 73% ที่เหลือมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม
“เป็นการทดลองในลักษณะนี้เป็นครั้งแรกในประเทศและเป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการใช้แหล่งพลังงาน มันเป็นเรื่องสำคัญมากในการสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาดในประเทศจีนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” Quan Shenming ผู้จัดการทั่วไปของการไฟฟ้าที่มณฑลชิงไห่กล่าว
ประเทศจีนมีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอีก 366 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 สร้างงานได้อีกมากกว่า 13 ล้านตำแหน่ง
ในไตรมาสแรกของปี 2017 จีนได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ใหม่มีกำลังการผลิตเพิ่มถึง 7.21 กิกะวัตต์ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์รวมทั้งหมดเป็น 85 กิกะวัตต์ (มากกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย 2 เท่า)
ข้อมูลและภาพจาก climateactionprogramme, newatlas