หัวใจมนุษย์เทียมทำด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติทำทุกอย่างได้เหมือนของจริง

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาหัวใจมนุษย์เทียมมานานพอควร แต่ส่วนใหญ่ที่ทำออกมายังดูอุ้ยอ้ายยากต่อการนำไปใช้งาน ทีมวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีสวิส ซูริค (ETH Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จึงได้ประดิษฐ์หัวใจมนุษย์เทียมที่มีขนาดรูปร่างและทำงานได้เหมือนหัวใจมนุษย์จริง และผลการทดลองต้นแบบหัวใจเทียมได้ผลน่าพอใจ

ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์กับภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) มากถึง 26 ล้านคน และปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ ทำให้การคิดค้นประดิษฐ์หัวใจเทียมเป็นทางออกของการแก้ปัญหานี้ในระยะยาวได้

ทีมวิจัยที่นำโดย Nicholas Cohrs ได้ใช้วัสดุซิลิโคนที่มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นมาทำเป็นหัวใจเทียมแบบชิ้นเดียว โดยอาศัยเทคนิคการพิมพ์สามมิติในการสร้างขึ้นมา ด้วยวัสดุและเทคนิคดังกล่าวทีมวิจัยสามารถออกแบบโครงสร้างภายในที่ซับซ้อน มีห้องด้านซ้ายห้องด้านขวา รวมทั้งระบบกลไกการเต้นของหัวใจ สามารถเลียนแบบการทำงานของหัวใจมนุษย์จริงได้

“จุดประสงค์ของเราคือการพัฒนาหัวใจเทียมที่มีขนาดเดียวกับของผู้ป่วยและเลียนแบบหัวใจมนุษย์ให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ทั้งในด้านรูปลักษณ์และการทำงาน” Cohrs กล่าว

ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการทดลองปั๊มของเหลวที่มีความข้นเหลวเท่ากับเลือดที่ความดันเดียวกับของคนทั่วไปด้วยหัวใจเทียมนี้ ในการทดลองหัวใจเทียมต้นแบบเต้นอยู่ได้นานหนึ่งชั่วโมงครึ่งหรือราว 3,000 ครั้ง ก่อนที่วัสดุจะแตกชำรุด ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากทีเดียว

“นี่เป็นเพียงการทดสอบความเป็นไปได้เท่านั้น” Cohrs กล่าว “เป้าหมายในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการนำเสนอหัวใจเทียมที่พร้อมใช้งานจริง แต่เป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาหัวใจเทียม”

เรายังคงมีหนทางอันยาวไกลในการพัฒนาหัวใจเทียมให้มาทดแทนหัวใจมนุษย์ได้ นักวิจัยยังต้องทำงานต่อไปในการปรับปรุงทั้งด้านวัสดุและการออกแบบให้ดียิ่งขึ้น แต่นี่ก็นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้การประดิษฐ์หัวใจเทียมใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น

ชมวิดีโอแสดงการทำงานของหัวใจเทียมได้ที่ด้านล่าง

 

 

ข้อมูลและภาพจาก   futurism, sciencealert

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *