เมืองเซาท์ไมอามีในสหรัฐออกกฎให้บ้านหลังใหม่ต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ใครก็ตามที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ในเมืองเซาท์ไมอามีในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการปรับปรุงบ้านในบางกรณี จะต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามกฎระเบียบที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากคณะเทศมนตรีของเมืองเมื่อสัปดาห์ผ่านมา

ปีที่แล้วมีเด็กนักเรียนผู้หญิงอายุ 16 ปีชื่อ Delaney Reynolds ได้เขียนจดหมายถึงนายกเทศมนตรี 6 คนในรัฐฟลอริดา กระตุ้นให้พวกเขาออกกฏระเบียบให้พลเมืองใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และ Philip Stoddard นายกเทศมนตรีของเมืองเซาท์ไมอามีก็เป็นคนแรกที่ตอบสนองแนวคิดของเธอ

กฎระเบียบที่ผ่านการอนุมัติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2017 กำหนดให้บ้านหลังใหม่จะต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 175 ตารางฟุตต่อพื้นที่หลังคาซึ่งมีแสงแดดส่อง 1,000 ตารางฟุต หรือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดความจุ 2.75 กิโลวัตต์ต่อพื้นที่อยู่อาศัย 1,000 ตารางฟุต แล้วแต่ว่าแบบไหนจะน้อยกว่า ข้อกำหนดนี้ใช้กับการปรับปรุงบ้านที่มีการขยายพื้นที่เกิน 75% หรือมีการเปลี่ยนหลังคาเกิน 75% ด้วย

กฎระเบียบแบบนี้ถูกออกใช้กับเมืองเซาท์ไมอามีเป็นที่แรกในรัฐฟลอริดา ก่อนหน้านี้ที่เมืองซานฟรานซิสโกและเมืองแซนตามอนิกาในรัฐแคลิฟอเนียก็ได้มีการออกกฎระเบียบที่คล้ายกัน นับเป็นแนวทางที่ให้การส่งเสริมพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สวนทางกับแนวคิดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ไปมุ่งส่งเสริมพลังงานฟอสซิลโดยสิ้นเชิง

“เราได้สร้างประวัติศาสตร์ เราเป็นเมืองแรกในสหรัฐนอกจากรัฐแคลิฟอเนียที่อนุมัติกฎระเบียบนี้” Stoddard กล่าว “มันไม่ได้จะปกป้องโลก แต่มันจะทำให้ผู้คนตระหนักเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์”

solar-panels-south-miami-2

หนึ่งเสียงที่คัดค้านการอนุมัติกฎระเบียบนี้มาจาก Josh Liebman หนึ่งในคณะเทศมนตรีของเมืองซึ่งเห็นว่ากฎใหม่จะไปลิดรอนเสรีภาพของพลเมือง เขาบอกว่า “ใครก็ตามที่ไม่ต้องการจะมีแผงโซลาร์เซลล์จะถูกไม่ยินดีให้พักอาศัยอยู่ในเมืองเมืองเซาท์ไมอามี ผมจึงต้องคัดค้าน เพราะมันขัดขวางเสรีภาพของแต่ละบุคคล”

ขณะที่นายกเทศมนตรี Stoddard ที่เป็นอาจารย์ด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยฟลอริดายินดีกับชัยชนะในครั้งนี้ บ้านของเขาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และตัวเขาขับรถยนต์ไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าของเขาในแต่ละเดือนประมาณ 10 ดอลลาร์เท่านั้น

“โซลาร์เซลล์ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของบ้าน มันทำให้การขายบ้านได้เร็วขึ้น มันให้ผลตอบแทนที่มากกว่ากับผู้รับสร้างบ้าน มันทำให้มีงานเพิ่มขึ้น และที่สำคัญที่สุด มันลดการปล่อยมลพิษลงในวันนี้เพื่อช่วยให้เด็กๆและลูกหลานของเรามีอนาคตที่ดีกว่าในวันหน้า”

ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีการริเริ่มในเรื่องนี้ ประเทศอื่นๆก็เริ่มขยับตัวกันบ้างแล้วอย่างเช่นที่ประเทศออสเตรเลีย และนี่อาจจะเป็นเทรนด์ใหม่อีกอย่างหนึ่งของการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

 

ข้อมูลและภาพจาก  miamiherald, insideclimatenews

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *