ชาวเกาะอีสเตอร์ผู้สร้าง ‘โมอาย’ ไม่ได้ล้างผลาญทรัพยากรจนตัวเองเกือบสูญพันธุ์

ชาวโพลิเนเชียนที่อาศัยอยู่บนเกาะอีสเตอร์ผู้สร้างรูปปั้นหินรูปร่างคล้ายมนุษย์แต่มีศีรษะใหญ่กว่าปกติที่เรียกว่าโมอาย (Moai) ถูกเชื่อมาตลอดว่าเป็นชนเผ่าที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แบบล้างผลาญจนหมดเกาะ ผู้คนอดอยากล้มตายจนแทบจะสูญสิ้นเผ่าพันธ์ุ แต่จากงานวิจัยใหม่ของนักโบราณคดีที่มหาวิทยาลัย Binghamton ประเทศสหรัฐอเมริกากลับพบว่ามันแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ถึงขั้นต้องเขียนประวัติศาสตร์ของชาวเกาะแห่งนี้กันใหม่เลยทีเดียว

เกาะอีสเตอร์ (Easter Island) หรือเกาะราปานูอี (Rapa Nui) เป็นเกาะขนาดเล็กตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากฝั่งประเทศชิลีไปทางทิศตะวันตกกว่า 3,600 กิโลเมตร นักสำรวจชาวดัตช์เป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมาพบเกาะนี้ในปี 1722 ในวันอีสเตอร์พอดีจึงตั้งชื่อเป็นเกาะอีสเตอร์ แม้ว่าจะเป็นเกาะเล็กๆที่อยู่โดดเดี่ยวห่างไกลแต่กลับต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาปีละนับแสนคน มนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวนอกจากความงดงามตามธรรมชาติก็คือรูปปั้นโมอายที่โดดเด่นนั่นเอง

ตามตำนานเชื่อกันว่ารูปปั้นโมอายสร้างขึ้นโดยชาวโพลิเนเชียนซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะนี้เมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ชาวโพลิเนเชียนสร้างรูปปั้นโมอายเพื่อเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรืออาจจะเป็นผู้ซึ่งมีความสำคัญในสมัยนั้น บนเกาะอีสเตอร์มีรูปปั้นโมอายซึ่งเกาะสลักจากหินก้อนเดียวจำนวนทั้่งสิ้นราว 900 ตัว มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตัวใหญ่ที่สุดสูงเกือบ 10 เมตร หนักราว 82 ตัน และยังมีรูปปั้นที่ยังทำไม่เสร็จวัดความสูงได้ราว 21 เมตร หนักราว 270 ตัน

การขนย้ายโมอายจากเหมืองหินที่จัดสร้างรูปปั้นไปติดตั้งตรงจุดที่กำหนดไว้เป็นเรื่องยากลำบากเนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีเครื่องมือในการขนย้ายวัตถุที่ใหญ่และหนักขนาดนี้ เชื่อกันว่าชาวโพลิเนเชียนใช้ท่อนไม้จำนวนมากสำหรับรองรับเป็นลูกกลิ้งในการขนย้ายโมอาย และนี่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของความเชื่อที่ว่าชนเผ่านี้ใช้ทรัพยากรแบบไม่บันยะบันยังจนหมดเกาะ

easter-island-3

“ตามความเชื่อบอกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวเกาะอีสเตอร์ใช้ทรัพยากรที่มีจนหมดและเริ่มอดอยาก” Carl Lipo หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “หนึ่งในทรัพยากรที่พวกเขาใช้จนหมดคือต้นไม้บนเกาะ ต้นไม้เหล่านั้นใช้สร้างเรือแคนู เมื่อไม่มีเรือแคนูพวกเขาก็จับปลาไม่ได้ จึงต้องอาศัยอาหารจากบนบก พอนานๆเข้าดินก็เสื่อมโทรมเพาะปลูกไม่ได้ผล นำไปสู่หายนะของชนเผ่า นั่นเป็นเรื่องเล่าเก่าแก่”

เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าชาวเกาะอีสเตอร์กินอะไรอย่างไร ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ซากของมนุษย์ ซากสัตว์ และซากพืชที่มีอายุย้อนหลังไปถึงปีค.ศ. 1400 การวิเคราะห์ไอโซโทปของคาร์บอนและไนโตรเจนของสารคอลลาเจนในกระดูกสามารถทำให้รู้ลักษณะอาหารของคนโบราณเหล่านี้ได้ และการเปรียบเทียบกับไอโซโทปของพืชสมัยโบราณและสมัยปัจจุบันและตัวอย่างจากทะเลทำให้รู้ว่าอาหารของชาวเกาะอีสเตอร์มาจากอะไร

ทีมวิจัยพบว่าครึ่งหนึ่งของโปรตีนในอาหารของชาวเกาะอีสเตอร์มาจากทะเล นอกจากนี้อาหารจากพืชที่ปลูกบนเกาะมาจากดินที่อุดมสมบูรณ์ แสดงว่าชาวเกาะแห่งนี้รู้เรื่องการเพาะปลูกดีกว่าที่เคยคิดไว้มาก นั่นหมายความว่าคนพวกนี้สามารถที่จะปรับตัวและอยู่รอดภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคได้เป็นอย่างดี

“ไม่น่าแปลกใจเลย ชาวเกาะอีสเตอร์ชาญฉลาดในการใช้ทรัพยากรของพวกเขา” Lipo กล่าว “ความเข้าใจผิดทั้งหมดมาจากอคติในการดำรงชีวิตชาวยุโรป พอเห็นว่ามันไม่เหมือนกับที่พวกเขาคิดเอาไว้ก็ตีความไปว่าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น”

“ผลวิจัยของเราชี้ว่าประชากรบนเกาะอีสเตอร์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีความรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับวิธีฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน, ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น และผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน” Lipo สรุป

เมื่อปี 2012 Lipo ได้ร่วมทำวิจัยศึกษาวิธีการเคลื่อนย้ายรูปปั้นโมอายระยะทาง 18 กม.จากเหมืองหินจุดที่แกะสลักรูปปั้นเพื่อไปติดตั้งตามจุดต่างๆบนเกาะ ทีมวิจัยได้เสนอทฤษฎีใหม่ที่ใช้เพียงเชือก 3 เส้นและคนจำนวนหนึ่งกับกลยุทธ์บางอย่างเท่านั้นก็สามารถเคลื่อนย้ายรูปปั้นยักษ์ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ท่อนไม้เลย

easter-island-2

วิดีโอด้านล่างเป็นการสาธิตวิธีการเคลื่อนย้ายรูปปั้นตามแนวทฤษฎีใหม่

 

ข้อมูลและภาพจาก   newswise, nationalgeographic

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *