แต่ปรากฏการณ์นี้ยังไม่เคยถูกพบเห็นโดยตรง ความคิดนี้เป็นผลมาจากการวัดค่ามวลและรัศมีของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะซึ่งเกี่ยวเนื่องกับองค์ประกอบของมัน จากตรงนั้นนักดาราศาสตร์สามารถคิดคำนวณว่าอนุภาคเหล่านั้นจะมีปฏิกิริยาและแสดงลักษณะพิเศษของดาวเคราะห์อย่างไร
“สำหรับดาวเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างมวลและรัศมีสามารถบอกนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีได้มากทีเดียว” Dominik Kraus หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้กล่าว “และคุณสมบัติทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในดาวเคราะห์สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะบางอย่างของดาวเคราะห์ได้ เราไม่สามารถเข้าไปข้างในดาวเคราะห์และมองดูมันได้ ดังนั้นการทดลองในห้องปฏิบัติการนี้จึงได้เติมเต็มการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์”
เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมคล้ายกับดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ ทีมวิจัยใช้โฟมโพลีสไตรีนซึ่งทำจากมีเทนที่เป็นองค์ประกอบหลักในบรรยากาศของดาวน้ำแข็งยักษ์ จากนั้นนักวิจัยได้ทำการระเบิดโฟมด้วยเลเซอร์รังสีเอกซ์ที่มีพลังมากที่สุดในโลกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Linac Coherent Light Source (LCLS) ซึ่งส่งคลื่นกระแทก (Shock Wave) ไปที่โฟมเป็นระลอกแบบคลื่นคู่ คลื่นแรกจะเล็กและช้าทำให้คลื่นที่สองไล่ตามมาทัน
ในช่วงเวลาสั้นๆที่คลื่นกระแทกทั้งสองซ้อนทับกัน ความดันสูงสุดได้บดอะตอมคาร์บอนในโฟมเกือบทั้งหมดกลายเป็นเพชรเม็ดเล็กๆขนาดไม่กี่นาโนเมตร น่าเสียดายที่มันมีอายุสั้นมากเพียงแค่เศษเสี้ยวของวินาที ด้วยเหตุนี้การทดลองแบบอื่นที่พยายามสร้างฝนเพชรจึงไม่สามารถที่จะเห็นมันได้โดยตรง แต่สำหรับในการทดลองนี้เลเซอร์ความเข้มสูงได้ทำให้สามารถถ่ายภาพเอกซเรย์ และวัดขนาดและองค์ประกอบของมันได้
“ในการทดลองครั้งนี้เรามีเครื่อง LCLS ที่เป็นแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่สว่างที่สุดในโลก” Siegfried Glenzer หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “คุณจำเป็นจะต้องมีรังสีเอกซเรย์ที่เร็วและเข้มข้นเพื่อเห็นโครงสร้างของเพชรเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เพราะมันเกิดขึ้นในห้องแล็บเพียงช่วงเวลาที่สั้นมากๆ”
ขณะที่เพชรที่สร้างขึ้นในห้องแล็บมีขนาดเล็กและอายุสั้นมาก แต่นักวิจัยเชื่อว่าเพชรที่เกิดภายในดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนจะใหญ่กว่ามาก อาจจะหนักหลายล้านกะรัตและมีอายุอยู่ได้หลายพันปี เพราะมันค่อยๆจมลงอย่างช้าๆผ่านชั้นเปลือกดาวที่เฉอะแฉะและทำให้เกิดชั้นหนาของเพชรรอบแกนกลาง
นอกจากทำให้เราได้เข้าใจองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ได้ดีขึ้นแล้ว งานวิจัยนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นได้อีก ทีมวิจัยบอกว่าการสร้างเพชรนาโนด้วยเลเซอร์มีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีการใช้วัตถุระเบิดที่ใช้กันในปัจจุบัน และเพชรที่ได้ก็ใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลและภาพจาก stanford.edu, newatlas