CityAirbus ประกอบด้วยโรเตอร์ (ใบพัด) 4 ชุด มีมอเตอร์ 8 ตัว จ่ายไฟโดยแบตเตอรี่ 4 ตัว บินด้วยความเร็ว 120 กม./ชม. มันถูกออกแบบให้บรรทุกผู้โดยสาร 4 คน ใช้บินในเมืองใหญ่ระหว่างจุดหมายสำคัญ เช่น สนามบินหรือสถานีรถไฟ มีจุดเด่นที่เดินทางได้รวดเร็ว ราคาไม่แพง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แอร์บัสหวังว่าจะสามารถเปิดให้บริการผู้โดยสารในเมืองได้ในราวปี 2023 โดยในช่วงแรกจะใช้นักบินควบคุมเพื่อให้ง่ายต่อการได้รับการรับรองและการยอมรับของสาธาณชน เป็นการปูทางไปสู่การปฏิบัติการด้วยระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบในอนาคต
ส่วนโบอิ้งกลับเดินทางลัดด้วยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Aurora Flight Sciences Corporation หนึ่งในผู้พัฒนา eVTOL ชั้นนำของโลกด้วยราคาไม่เป็นที่เปิดเผย ทำให้โบอิ้งสามารถเข้าสู่สนามแข่งขันใหม่นี้ได้ทันที และพร้อมรับมือกับการเทรนด์การเดินทางรูปแบบใหม่ของคนเมืองในอนาคตอันใกล้ได้แบบไม่เป็นรองใคร
บริษัท Aurora เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอากาศยานไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ ผลงานของพวกเขาได้รับความสนใจจากบริษัทใหญ่ๆมากมาย ปี 2016 หน่วยงานวิจัยด้านความมั่นคงระดับสูงของกองทัพสหรัฐหรือ DARPA ได้มอบหมายให้บริษัทช่วยพัฒนาเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งในโครงการ VTOL X-Plane และช่วงต้นปี 2017 บริษัท Uber ได้เซ็นสัญญาซื้อ eVTOL ของ Aurora จำนวน 50 ลำเพื่อใช้ในการให้บริการแท็กซี่บิน
โบอิ้งและ Aurora เคยทำงานร่วมกันในการสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์และทางทหารมาก่อน โบอิ้งหวังว่าการเข้าซื้อ Aurora ที่ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะช่วยเร่งการพัฒนา eVTOL ได้เร็วยิ่งขึ้น
“การรวมความแข็งแกร่งและนวัตกรรมของทีมงานของเราจะทำให้การพัฒนาอากาศยานขับเคลื่อนอัตโนมัติรุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว” Greg Hyslop รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของโบอิ้งกล่าว “การทำงานร่วมกันของทั้งสองทีมจะเปิดตลาดใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ผ่านการผสมผสานและปฏิรูป”
ดูเหมือนว่าตอนนี้ถนนทุกสายกำลังมุ่งไปสู่ eVTOL การทุ่มเททั้งพลังสมองและเงินทุนจะทำให้ eVTOL พัฒนาอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าอีกไม่นานการเดินทางด้วยอากาศยานไร้คนขับจะเป็นจริงและกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่เคยชมกัน
ข้อมูลและภาพจาก airbus, boeing