นอกเหนือจากมีความปลอดภัยต่อชีวิตของนกมากกว่าและรบกวนต่อผู้คนน้อยกว่าแล้ว ข้อได้เปรียบสำคัญของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งคือมีความเร็วลมสูงกว่า ซึ่งในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากว่าฟาร์มกังหันลมบนบกถึง 5 เท่า แต่คำถามคือความเร็วลมที่สูงมากในทะเลจะสามารถเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้มากอย่างที่คิดจริงหรือไม่ นักวิจัยที่สถาบัน Carnegie Science ได้ทำการศึกษาเพื่อหาคำตอบ
“ลมในทะเลนอกชายฝั่งแรงจัดเป็นเพราะไม่มีอะไรไปขวางทำให้มันช้าลงหรือเปล่า?” Ken Caldeira หนึ่งในทีมวิจัยตั้งคำถาม “ฟาร์มกังหันลมยักษ์จะชะลอความเร็วลมจนไม่มีความแตกต่างกับบนบกหรือไม่?”
พลังงานส่วนใหญ่ที่ถูกเก็บเกี่ยวโดยกังหันลมเกิดขึ้นที่ชั้นบรรยากาศระดับสูงและถูกส่งลงมาใกล้บริเวณพื้นผิวที่ซึ่งกังหันลมสามารถดึงเอาพลังงานมาใช้ได้ มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ได้ประมาณอัตราสูงสุดที่จะผลิตไฟฟ้าได้บนบกและอัตราสูงสุดนั้นจะขึ้นอยู่กับเคลื่อนลงมาข้างล่างของลมชั้นบนที่พัดแรงกว่า
“คำถามที่แท้จริงก็คือชั้นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรสามารถส่งพลังงานลงมาข้างล่างได้มากกว่าชั้นบรรยากาศบนบกหรือไม่” Caldeira กล่าว
ทีมวิจัยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เปรียบเทียบผลระหว่างฟาร์มกังหันลมขนาดใหญ่เกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตรในรัฐแคนซัสตอนกลางของประเทศสหรัฐกับในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ผลปรากฏว่าฟาร์มกังหันลมในมหาสมุทรไม่ได้ชะลอความเร็วลมลงมากเท่ากับที่เกิดขึ้นบนบก และทำให้ในบางพื้นที่ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าบนบกอย่างน้อย 3 เท่า
สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเกิดจากความแตกต่างในสภาพปัจจัยแวดล้อมของชั้นบรรยากาศเหนือมหาสมุทรกับบนบก มีความร้อนจำนวนมหาศาลระบายออกจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือขึ้นไปสู่บรรยากาศชั้นบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิที่พื้นผิวตลอดแนวชายฝั่งของสหรัฐทำให้เกิดพายุไซโคลนขึ้นบ่อยๆทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และดึงเอาพลังงานจากบรรยากาศชั้นบนลงมาใกล้พื้นผิว
“เราพบว่าฟาร์มกังหันลมในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือสามารถใช้ประโยชน์จากชั้นบรรยากาศหลายระดับ ต่างจากฟาร์มกังหันลมที่จำกัดอยู่เฉพาะลมใกล้พื้นผิวเท่านั้น” Anna Possner นักวิจัยอีกคนกล่าว
ทีมวิจัยยังพบอีกว่าพลังงานลมในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือขึ้นอยู่กับฤดูกาลอย่างมาก ในฤดูร้อนฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง (แบบจำลอง) สามารถผลิตไฟฟ้าเพียงพอสำหรับความต้องการในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แต่ในฤดูหนาวมันสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากพอสำหรับความต้องการของคนทั้งโลกได้เลย
ข้อมูลและภาพจาก carnegiescience.edu, newatlas