ในรายงานของ GCP ระบุว่าในปี 2016 มีการปล่อย CO2 ทั้งสิ้น 36.2 พันล้านตันมาจากถ่านหิน 40% น้ำมัน 34% ก๊าซธรรมชาติ 19% และซีเมนต์ 6% สำหรับในปี 2017 คาดว่าเพิ่มขึ้น 2% เป็น 36.8 พันล้านตันซึ่งจะเป็นสถิติสูงสุดใหม่ การเพิ่มขึ้นเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นในประเทศจีนและประเทศอื่นอีกจำนวนมาก
“การหยุดชะงักชั่วคราวได้สิ้นสุดลงในปี 2017” Rob Jackson จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในผู้ติดตามข้อมูลการปล่อย CO2 ของ GCP กล่าว “การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าการปล่อย CO2 เพิ่มมากขึ้นในปี 2018 เป็นสิ่งที่เป็นไปได้”
การปล่อย CO2 เพิ่มมากขึ้นได้สร้างความยุ่งยากและหนักใจต่อความพยายามรักษาก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ต่ำกว่าระดับที่พอจะบรรเทาผลกระทบอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายิ่งปล่อยออกมากเท่าไร การทำให้ลดลงก็ยิ่งยากลำบากและใช้เวลานานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วงชีวิตของ CO2 ในบรรยากาศยาวนานมาก ซึ่งหมายถึงว่าเราสามารถปล่อยออกได้ในจำนวนที่จำกัดจริงๆถ้าเราต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย
“เราโชคดีในช่วง 3 ปีล่าสุดที่การปล่อย CO2 คงที่ไม่เพิ่มขึ้นโดยปราศจากนโยบายขับเคลื่อนอย่างจริงจัง” Glen Peters นักวิจัยที่ศูนย์วิจัยสภาพอากาศนานาชาติในกรุงออสโลกล่าว “ถ้าเราต้องการทำให้การปล่อย CO2 ไม่เพิ่มขึ้นเราต้องใช้นโยบายและเริ่มขับเคลื่อนให้มันลดลง”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปล่อย CO2 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งมาจากการที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อย CO2 มากที่สุดในโลกมีการปล่อยเพิ่มขึ้น 3.5% ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น บางส่วนมาจากภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำลดลงเพราะมีฝนตกน้อยลง การใช้ถ่านหินของจีนเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐอเมริกาและยุโรปผู้ปล่อย CO2 เป็นอันดับ 2 และ 3 มีการปล่อยลดลงมานานเป็นทศวรรษแล้วและในปี 2017 ก็ยังลดลง สำหรับสหรัฐส่วนหนึ่งที่ทำให้ลดลงมาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติน้อยลงเนื่องจากราคาสูงกว่าโดยได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปให้พลังงานหมุนเวียน และการใช้ถ่านหินขยายตัวน้อยลง ปี 2017 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่การใช้ถ่านหินของสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยราว 0.5%
ส่วนยุโรปมีการปล่อย CO2 ลดลงเล็กน้อยหรือเท่าเดิมมา 3 ปีติดต่อกัน จากการใช้ถ่านหินลดลงแต่ก็ถูกชดเชยด้วยการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น
ที่คาดไม่ถึงคืออินเดียมีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นเพียง 2% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 6% แต่อัตราการเติบโตที่ลดลงนี้คงจะอยู่ได้ไม่นานเนื่องจากสาเหตุเชื่อมโยงกับการส่งออกที่ลดลงและความล้มเหลวชั่วคราวในเรื่องเงินหมุนเวียน
ยังมีสัญญาณที่ดีอยู่บ้างจากรายงานชิ้นนี้ เช่น พลังงานหมุนเวียนมีอัตราการเติบโตถึง 14% ต่อปีซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และปริมาณการใช้ถ่านหินทั่วโลกยังต่ำกว่าจุดที่สูงที่สุดเมื่อปี 2014 อีกอย่างที่น่าสนใจยิ่งคือการที่หลายประเทศทางตอนกลางและตอนเหนือของยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นไปได้จริงที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ขณะที่การปล่อย CO2 ลดลง
อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องเดินหน้าสู่เป้าหมายการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงกว่าระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 2°C ต่อไปด้วยการลดการปล่อย CO2 ลงตามลำดับจนเป็นศูนย์ในปี 2050
ข้อมูลและภาพจาก phys.org, globalcarbonproject.org