นักดาราศาสตร์สามารถใช้ข้อมูลจาก HARPS คำนวณลักษณะของดาวเคราะห์ เช่น มวล คาบการโคจร และระยะห่างจากดาวฤกษ์ เป็นต้น ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกค้นพบโดย HARPS สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากอุปกรณ์และหอดูดาวอื่น รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่มากของ ESO (Extremely Large Telescope) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 39 เมตรและเริ่มใช้งานได้ในปี 2024
“การค้นพบครั้งนี้มาจากการเฝ้าติดตามอย่างจริงจังมากกว่า 10 ปีร่วมกับเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย” Nicola Astudillo-Defru จากมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หนึ่งในทีมค้นพบกล่าว “มีแต่ HARPS ที่มีความแม่นยำมากขนาดนี้และมันเป็นเครื่องมือค้นหาดาวเคราะห์ที่ดีที่สุดตลอด 15 ปีหลังเริ่มใช้งาน”
HARPS พบหลักฐานการคงอยู่ของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวแคระแดง (Red dwarf) ที่ชื่อ Ross 128 จากข้อมูลที่ตรวจพบทีมงานคำนวณได้ว่า Ross 128 b โคจรรอบดาวฤกษ์ของมันที่ระยะห่างเท่ากับ 1 ใน 12 ของระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์
แม้ว่ามันจะอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของมันมาก แต่ Ross 128 b ได้รับรังสีเพียงประมาณ 1.38 เท่าของโลกซึ่งทำให้มันมีอุณหภูมิที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยในช่วงระหว่าง -60 ถึง 20 °C ที่เป็นแบบนี้เพราะดาวแคระแดงดวงนี้มีขนาดเล็กกว่าและเย็นกว่าดวงอาทิตย์มาก
Ross 128 กำลังเดินทางมุ่งหน้ามาสู่ระบบสุริยะของเรา ซึ่งหมายถึงว่า Ross 128 b จะสามารถถอด Proxima b จากตำแหน่งดาวเคระห์นอกระบบที่ใกล้โลกที่สุด (4 ปีแสง) ภายในเวลา 79,000 ปี การค้นพบ Proxima b ถูกประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2016 ด้วยความตื่นเต้นกันยกใหญ่ แต่ยังมีข้อสงสัยอย่างมากในศักยภาพของการอยู่อาศัยได้ที่เกิดจากลักษณะของดาวแคระแดง Proxima Centauri ที่เป็นดาวแม่ของมัน
ลักษณะตามธรรมชาติของดาวแคระแดงจะมีความสว่างน้อยกว่าและมีขนาดเล็กกว่าดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ของเรามาก แต่บางดวงยังคงสามารถปล่อยเปลวสุริยะที่มีพลังงานมากสาดส่องดาวเคราะห์ที่โคจรรอบมันด้วยรังสีอุลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์ซึ่งจะค่อยๆทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Proxima b อาจไม่เหมาะสมสำหรับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต แต่สำหรับ Ross 128 กลับเป็นตรงกันข้ามเพราะมันมีสภาพเฉื่อยชาไม่ค่อยมีพลังและไม่คุกคาม Ross 128 b อย่างที่ Proxima Centauri ทำกับ Proxima b
Ross 128 b เป็นเป้าหมายที่มีหวังสำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก เนื่องจากมันมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกับโลก อย่างไรก็ดียังมีคำถามสำคัญเกี่ยวกับการอาศัยอยู่ได้ของดาวเคราะห์ดวงนี้ ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบยังไม่แน่ใจว่า Ross 128 b โคจรอยู่ในเขตอยู่อาศัยได้ (Habitable Zone) หรือไม่ หากอยู่ในเขตนี้ดาวเคราะห์จะได้รับรังสีที่พอเหมาะที่ทำให้น้ำสามารถอยู่บนพื้นผิวของมันได้ การที่มีอยู่ของน้ำบนโลกในยุคเก่าแก่เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญพื้นฐานของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา หาก Ross 128 bไม่สามารถเก็บรักษาน้ำไว้บนผิวของมันได้ก็คงจะยากที่จะมีโอกาสกำเนิดสิ่งมีชีวิต
นักดาราศาสตร์กำลังวางแผนจะใช้หอดูดาวรุ่นใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในการค้นหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใกล้เคียงโลกที่กำลังโคจรรอบดาวแคระแดง และแน่นอนว่า Ross 128 b จะเป็นหนึ่งในนั้น
ข้อมูลและภาพจาก newatlas, eso.org